วิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการปวด ชา หรือเจ็บแปลบคล้ายมีเข็มทิ่มที่เกิดขึ้น โดยอาการปวดหลังร้าวลงขาส่วนใหญ่มักดีขึ้นได้ด้วยวิธีดูแลตนเองต่าง ๆ เช่น ประคบร้อน ประคบเย็น หรือการใช้ยารักษา หากอาการยังคงไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมจากแพทย์
ปวดหลังร้าวลงขาเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) ที่อยู่บริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก ก้น หลังขา เท้า หรือนิ้วเท้า ถูกกดทับ ซึ่งการกดทับอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง
วิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาอย่างเหมาะสม
วิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขามีหลายวิธีที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก เช่น
1. การประคบเย็นและประคบร้อน
การประคบเย็นอาจช่วยลดอาการปวดและบวมบริเวณที่เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา ซึ่งควรประคบเย็นในช่วง 2–3 วันแรกหลังจากรู้สึกปวดร้าว โดยวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาด้วยการประคบเย็นทำได้ไม่ยาก เพียงนำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าสะอาด จากนั้นประคบบริเวณที่เกิดอาการปวดประมาณ 20 นาที วันละ 2–3 ครั้ง
หลังจากช่วง 2–3 วันแรก อาจลองเปลี่ยนมาประคบร้อนบริเวณที่ปวดร้าวประมาณ 20 นาที หากยังคงรู้สึกปวดหลังร้าวลงขาอยู่ ควรสลับระหว่างประคบเย็นและประคบร้อน หรืออาจเลือกการประคบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เหมาะสมต่อตนเอง
2. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่างอาจเป็นวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาอีกหนึ่งวิธีที่ทำตามได้ โดยหนึ่งในวิธียืดเหยียดกล้ามเนื้อคือท่า Knee to opposite shoulder ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกที่อาจเกิดการอักเสบ กดทับเส้นประสาทไซอาติก และทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขาได้
โดยการทำท่า Knee to opposite shoulder สามารถทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
- นอนหงายราบกับพื้น เหยียดขาตรง และงอข้อเท้าขึ้นให้นิ้วเท้าชี้ไปด้านบน
- งอขาขวาแล้วประสานมือไว้รอบเข่า จากนั้นค่อย ๆ ดึงขาขวาพาดลำตัวไปทางไหล่ซ้าย และค้างไว้ 30 วินาที โดยควรดึงจนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อสะโพก แต่ไม่ควรฝืนดึงมากเกินไป จนทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวด
- ปล่อยมือ ดันเข่าออก และเหยียดขาตรงเหมือนในท่าเริ่มต้น
- ทำสลับกับขาซ้าย และทำซ้ำทุกขั้นตอนจนครบ 3 รอบ
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงท่าบริหารที่ต้องกระโดดหรือบิดตัว เพราะอาจทำให้อาการปวดหลังร้าวลงขารุนแรงขึ้นได้
3. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขา โดยการออกกำลังกายอาจช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง และบรรเทาอาการปวดหลังร้าวลงขาได้ ซึ่งตัวอย่างการออกกำลังกายที่ดีต่อหลังมีมากมาย เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ
4. การปรับเปลี่ยนท่าทาง
การปรับท่าทางในการยืน หรือการนั่งให้ถูกต้องอาจเป็นวิธีที่ช่วยรักษาอาการปวดหลังร้าวได้ โดยการปรับท่าทางอาจช่วยให้กล้ามเนื้อกลางลำตัวเกิดความสมดุล จึงอาจช่วยป้องกันอาการปวดหลังร้าวลงขาและทำให้มีบุคลิกที่ดี
สำหรับการยืน ควรยืนให้คางขนานกับพื้น ถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าทั้งสองข้าง หลังตรง ไม่แอ่นตัวหรืองอตัว ไหล่ สะโพก และเข่า ควรอยู่ระดับเดียวกันทั้ง 2 ข้าง หัวเข่าและปลายเท้าควรชี้ไปด้านหน้า แขนเหยียดตรงและวางไว้ข้างลำตัว
สำหรับการนั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงพอดี เท้าทั้งสองข้างติดพื้น คางขนานกับพื้น นั่งตัวตรง ไหล่ สะโพก และเข่า ควรอยู่ระดับเดียวกันทั้ง 2 ข้าง หัวเข่าและปลายเท้าควรชี้ไปด้านหน้า นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างเพราะอาจทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้
5. การหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
ในระหว่างการรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขา ควรหลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักเยอะเกินไป เพราะการยกของหนักอาจทำให้อาการปวดหลังร้าวลงขาแย่ลงได้ หากจำเป็นต้องยกของหนัก ควรยกทำท่ายกของหนักอย่างถูกวิธี ดังนี้
- ยืนติดกับสิ่งของที่ต้องการยก ขาทั้งสองข้างกางออกเล็กน้อยให้พอดีกับความกว้างของไหล่
- งอเข่าและย่อตัวลงจับสิ่งของด้วยมือทั้งสองข้าง
- ยกสิ่งของขึ้น โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย โดยให้ศรีษะ หลัง และก้นกบอยู่ในแนวเดียวกัน
- ยืนขึ้นด้วยกล้ามเนื้อขา โดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ และถือสิ่งของให้อยู่ใกล้ลำตัวมากที่สุด
6. การใช้ยา
การใช้ยาแก้ปวดต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขา โดยยาแก้ปวดในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลังร้าวลงขา บวม หรืออักเสบที่เกิดขึ้นได้
7. การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนจีนโบราณที่อาจนำมาใช้เป็นวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาได้ โดยการฝังเข็ม คือการนำเข็มขนาดเล็กฝังลงบนผิวหนังตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดหลังร้าวลงขา อาการชา หรืออาการเจ็บแปลบคล้ายมีเข็มทิ่ม
หากต้องการเลือกการฝังเข็มมักเป็นวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขา ควรเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการรักษา
8. การนวด
การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอาจส่งผลให้เส้นประสาทไซอาติกถูกเบียดทับได้ ดังนั้น การนวดจึงอาจเป็นวิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ควรนวดกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหลังร้าวลงขารุนแรงขึ้น หรือได้รับอาการบาดเจ็บเพิ่มเติมจากการนวด
9. การไปพบแพทย์
หากอาการปวดหลังร้าวลงขามีอาการรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้วิธีรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาต่าง ๆ แล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาจากแพทย์มีหลายวิธี เช่น
- การจ่ายยาเพื่อบรรเทาปวดหลังร้าวลงขา ๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ นอกจากนี้ หากมีอาการปวดหลังร้าวลงขาเรื้อรัง แพทย์อาจจ่ายยาอื่น ๆ เช่น ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า ยาในกลุ่มยากันชัก
- การทำกายภาพบำบัด แพทย์อาจแนะนำการทำกายภาพบำบัดต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันการเกิดอาการปวดหลังร้าวลงขาในอนาคต
- การฉีดสเตียรอยด์ แพทย์อาจฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดหลังร้าวลงขาที่เกิดขึ้น โดยการฉีดสเตียรอยด์เป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่มักใช้เป็นการรักษาอาการปวดในระยะสั้นเท่านั้น
- การผ่าตัด แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อนำกระดูกหรือชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนกดทับเส้นประสาทออก โดยการผ่าตัดมักใช้กับผู้ที่มีรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงจนอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดหลังร้าวลงขามักดีขึ้นภายใน 4–6 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและวิธีการรักษาปวดหลังร้าวลงขาที่เลือกใช้