9 วิธีแก้หูอื้อให้ได้ผล

วิธีแก้หูอื้อด้วยตัวเองมีหลายวิธี ซึ่งอาจแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้หูอื้อ โดยอาการหูอื้อมักเกิดจากการมีขี้หูอุดตันในช่องหู น้ำเข้าหู การเปลี่ยนแปลงของแรงกดอากาศอย่างฉับพลัน เช่น ขณะที่เครื่องบินขึ้นและลง หรือเกิดจากการติดเชื้อในร่างกาย โดยทั่วไป อาการหูอื้อมักหายได้เองภายในเวลาไม่นาน การทำตามวิธีแก้หูอื้อด้วยตัวเองจะช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น

คนทั่วไปมักใช้คำว่าหูอื้ออธิบายอาการได้ยินเสียงลดลงหรือรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหู นอกจากนั้น ในบางกรณีหูอื้อยังหมายถึงการได้ยินเสียงต่าง ๆ ในหู เช่น เสียงตุบ ๆ ตามชีพจร เสียงก้อง หรือเสียงหวีดแหลมดังขึ้นในหู โดยบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะวิธีแก้หูอื้อกรณีหูอื้อจากการอุดตันภายในหูเท่านั้น ซึ่งมักจะไม่มีอาการปวดหู แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

วิธีแก้หูอื้อ

รวมวิธีแก้หูอื้อ

วิธีแก้หูอื้อที่เกิดจากการอุดตันภายในหู เช่น น้ำเข้าหู การขึ้นหรือลงจากที่สูงอย่างฉับพลัน และโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ ซึ่งพบบ่อยในชีวิตประจำวัน มีดังนี้

 1. อ้าปากหาวกว้าง ๆ

การอ้าปากหาวกว้าง ๆ จะทำให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไป ซึ่งการกลืนและการเคลื่อนไหวของช่องปากจะช่วยให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) เปิดออก ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก ทำหน้าที่ปรับแรงดันในหูภายในและภายนอกหูให้เท่ากัน และทำให้อาการหูอื้อหายได้ โดยสามารถทำวิธีนี้ซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะหายจากอาการหูอื้อ

2. บีบจมูกและหายใจออก

วิธีแก้หูอื้อทำได้โดยการหายใจเข้าลึก ๆ แล้วใช้มือบีบจมูกทั้งสองข้างไว้โดยไม่อ้าปาก และพ่นลมหายใจออกทางจมูกจนได้ยินเสียงเป๊าะ วิธีนี้จะช่วยให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออกได้เล็กน้อย ซึ่งช่วยระบายความดันในหู จึงเหมาะสำหรับคนที่หูอื้อจากแรงดันอากาศ เช่น ขณะโดยสารด้วยเครื่องบินที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงอย่างกะทันหัน จนแรงดันในหูและแรงดันอากาศภายนอกไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการหูอื้อ

ทั้งนี้ ไม่ควรหายใจออกขณะบีบจมูกแรงเกินไป และระมัดระวังการจามขณะที่ปิดจมูกอยู่ เพราะอาจทำให้แก้วหูฉีกขาดได้ และไม่ควรใช้วิธีนี้หากหูอื้อจากน้ำเข้าหู เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้น้ำไหลออกจากหู และยังทำให้เกิดอาการปวดหูมากกว่าเดิม

3. เคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม

การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นวิธีแก้หูอื้อที่เหมาะกับคนที่เดินทางบ่อยและมีอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศ วิธีแก้ง่าย ๆ คือพกหมากฝรั่งหรือลูกอมติดกระเป๋าไว้เคี้ยวในระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือลง เพราะการอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายและกลืนบ่อยขึ้น และการขยับขากรรไกรขณะเคี้ยวจะช่วยปรับแรงดันในหูและแรงดันภายนอกให้เท่ากัน

อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้ทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม เนื่องจากเด็กอาจเกิดอาการสำลักและอุดกั้นทางเดินหายใจได้

4. ดื่มน้ำ

การดื่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ เป็นวิธีแก้หูอื้อที่ให้ผลคล้ายกับการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะขณะที่กลืนน้ำจะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก จึงช่วยปรับแรงดันในหูและแรงดันภายนอกให้เท่ากัน วิธีแก้หูอื้อนี้สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้ การดื่มน้ำ เช่น น้ำอุ่น ซุป หรือกินโจ๊กอุ่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และหูอื้อจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และไซนัสอักเสบได้ด้วย

5. เอียงศีรษะให้น้ำไหลออกจากหู

หากหูอื้อจากน้ำเข้าหู เช่น ขณะอาบน้ำและว่ายน้ำ วิธีแก้หูอื้อที่ทำได้ง่าย ๆ คือใช้ผ้าขนหนูเช็ดเบา ๆ ที่บริเวณภายนอกของหู แต่ไม่ควรสอดผ้า กระดาษทิชชู นิ้ว สำลีก้าน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เข้าไปในหู เพราะจะทำให้หูอื้อมากขึ้นหรือได้รับบาดเจ็บในช่องหู 

จากนั้นการเอียงศีรษะหรือนอนตะแคงให้หูข้างที่มีน้ำอยู่ขนานกับพื้น ซึ่งจะช่วยให้น้ำที่ค้างในช่องหูไหลออกมา แล้วอาจใช้ไดร์เป่าผมที่เปิดระดับความร้อนต่ำเป่าบริเวณหูให้แห้ง โดยถือไดร์เป่าผมให้ห่างจากหูประมาณ 1 ฟุต 

6. ประคบอุ่นหรือใช้ไอร้อน

การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น แผ่นประคบร้อนสำเร็จรูปประคบบริเวณหูและจมูก หรือเปิดน้ำร้อนจากฝักบัวและนั่งอยู่ในห้องน้ำ จะช่วยให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก และช่วยกำจัดขี้หู ของเหลวส่วนเกินในช่องหู รวมทั้งช่วยลดน้ำมูกที่ค้างอยู่ในโพรงจมูก และลดอาการปวดสำหรับคนที่มีอาการคัดจมูกจากไซนัสอักเสบได้อีกด้วย

7. สูดไอน้ำร้อน

การสูดไอน้ำร้อนเป็นวิธีแก้หูอื้อที่เหมาะกับคนที่มีอาการคัดจมูกและหูอื้อจากไข้หวัด ไซนัสอักเสบ และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โดยต้มน้ำให้เดือดเทลงในชามหรืออ่าง โดยอาจผสมน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันเปปเปอร์มินต์ และทีทรีออยล์ ที่ช่วยลดอาการคัดจมูกลงไปในน้ำ จากนั้นยื่นหน้าไปอังอยู่เหนือภาชนะและสูดลมหายใจเข้าออกตามปกติ 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังการถูกน้ำร้อนลวก โดยเฉพาะเด็กเล็ก จึงไม่ควรให้เด็กเล็กใช้วิธีแก้หูอื้อนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายได้

8. การใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก

คนที่หูอื้อจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ และจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจใช้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ซึ่งจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ด้วย โดยยาที่ใช้หลายชนิดขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดรับประทาน ยาแก้แพ้สำหรับผู้มีอาการภูมิแพ้ และสเปรย์พ่นจมูก เป็นต้น โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนเกี่ยวกับวิธีใช้ยาอย่างเหมาะสม

9. หยอดหูเพื่อกำจัดขี้หู

วิธีแก้หูอื้ออีกวิธีหนึ่งคือการหยดเบบี้ออย (Baby Oil) มิเนอรัลออย (Mineral Oil) กลีเซอรีน (Glycerine) เข้าไปในหูเล็กน้อย หรือใช้ยาหยอดหูที่หาซื้อได้เอง ซึ่งมีส่วนประกอบของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และคาร์บาร์ไมด์เปอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) จะช่วยให้ขี้หูที่อุดตันในช่องหูอ่อนนุ่ม และสามารถกำจัดออกจากรูหูได้ง่ายขึ้น

คนที่ไม่ควรใช้วิธีแก้หูอื้อด้วยตัวเอง และควรไปพบแพทย์

แม้วิธีแก้หูอื้อจะทำได้ง่ายด้วยตัวเอง แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่ควรพยายามกำจัดขี้หูอกด้วยตัวเอง และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอาการหูอื้อ เช่น

  • มีอาการหูอื้อจากหูชั้นนอกอักเสบ โรคเกี่ยวกับหูชั้นกลาง และหูชั้นใน
  • มีอาการหูอื้อจากการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปค้างอยู่ในหู
  • มีประวัติแก้วหูทะลุหรือฉีกขาด
  • เคยผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณหูมาก่อน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น ไม่สามารถนั่งตัวตรงหรือนั่งนิ่ง ๆ ได้

นอกจากนี้ หากทำตามวิธีแก้หูอื้อข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง หูอื้อติดต่อกันนานหลายวันแล้วไม่หายไป ร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดหูรุนแรง หูบวมแดง ได้ยินเสียงลดลงมากหรือไม่ได้ยินเสียงเลย ได้ยินเสียงแปลกปลอมดังในหู มีไข้ มีหนองหรือเลือดไหลออกจากหู เวียนศีรษะบ้านหมุน และเสียการทรงตัว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป