9 ผลข้างเคียงยาคุมที่อาจพบได้

ผลข้างเคียงยาคุมเป็นอาการที่บางคนอาจพบหลังใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีเลือดออกคล้ายประจำเดือน ประจำเดือนขาด อารมณ์แปรปรวน ปวดหัว ปวดท้อง และน้ำหนักขึ้น

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง และใช้สะดวกกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ และยังช่วยรักษาโรคที่เกิดจากฮอร์โมน เช่น สิว ประจำเดือนมาไม่ปกติ และกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ได้ด้วย แต่การใช้ยาคุมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ การทราบผลข้างเคียงยาคุมจะช่วยให้ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดเข้าใจ และเตรียมรับมืออาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงยาคุม

ผลข้างเคียงยาคุมที่พบบ่อย

ผลข้างเคียงยาคุมจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนอาจไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ แต่บางคนอาจมีอาการบางอย่างหลังรับประทานยาคุมกำเนิด เช่น

1. ประจำเดือนผิดปกติ

ยาคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมน อย่างโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) การรับประทานยาคุมกำเนิดจึงทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อยลง ประจำเดือนไม่มา หรือบางคนอาจประจำเดือนมามากกว่าปกติ 

อย่างไรก็ดี ประจำเดือนที่ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียด อาการเจ็บป่วยบางอย่าง และการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากใช้ยาคุมไม่ถูกวิธี หากประจำเดือนขาดและสงสัยว่าตัวเองอาจตั้งครรภ์ ควรใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่หาซื้อได้เองมาตรวจดู เพื่อความมั่นใจ

2. มีเลือดออกคล้ายประจำเดือน

เลือดออกกะปริบกะปรอยเป็นผลข้างเคียงยาคุมอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการที่ร่างกายกำลังปรับตัวตามระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงแรกที่รับประทานยาคุม ฮอร์โมนนี้ทำให้เยื่อบุมดลูกบางลงเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ จึงสลายตัวออกมาเป็นเลือดที่มีลักษณะคล้ายประจำเดือนมาน้อย หรือมีตกขาวเป็นสีน้ำตาล

เลือดออกคล้ายประจำเดือนจะไม่นับเป็นเลือดประจำเดือน เพราะมักจะเกิดในช่วงระหว่างรอบเดือน ซึ่งอาการมักไม่ร้ายแรง การรับประทานยาคุมให้ตรงเวลาทุกวันจะช่วยป้องกันการเกิดผลข้างเคียงยาคุมนี้ได้

3. อารมณ์แปรปรวน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนได้ บางคนอาจมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าด้วย ผู้ป่วยโรคจิตเวชควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยาคุมกำเนิด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงยาคุมที่ส่งผลต่ออารมณ์และสภาวะจิตใจ

4. ปวดหัว

บางคนอาจมีอาการปวดหัวและปวดไมเกรนบ่อยขึ้นจากการรับประทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศหญิง อย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนปลี่ยนแปลงไป จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนและปวดหัวมากขึ้น แต่ผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน การรับประทานยาคุมอาจช่วยรู้สึกปวดหัวน้อยลง

ทั้งนี้ ผู้ที่ปวดไมเกรนเป็นประจำ และมีอาการผิดปกติก่อนการปวดไม่เกรน (Migraine With Aura) เช่น ตามองไม่เห็นชั่วคราว ตาพร่า เห็นแสงระยิบระยับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคุมกำเนิด

5. ช่องคลอดแห้ง

โดยปกติแล้ว ช่องคลอดแห้งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง  การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักเป็นปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เพื่อยับยั้งการตกไข่ ทำให้เกิดผลข้างเคียงยาคุมคืออาการช่องคลอดแห้งตามมา บางคนอาจมีอาการบวมแดง หรือเจ็บแสบในช่องคลอด โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์

6. ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

การรับประทานยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน อาจทำให้บางคนเกิดผลข้างเคียงยาคุมเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ไม่สบายท้อง ท้องอืด ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ในช่วงแรกที่เริ่มรับประทานยา และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อร่างกายปรับสภาพได้ 

หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรรับประทานยาคุมพร้อมอาหาร หรือก่อนนอน จะช่วยบรรเทาอาการได้

7. น้ำหนักขึ้น

แม้เอสโตรเจนอาจกระตุ้นความอยากอาหารที่นำไปสู่การมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบัน ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบในยาคุมกำเนิดมีน้อยลง น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจึงมักไม่ใช่ผลเคียงยาคุมที่เกิดขึ้นโดยตรง แต่อาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการรับประทานยาคุมเท่านั้น

8. เจ็บเต้านม

ผลข้างเคียงยาคุมอาจทำให้บางคนมีอาการเจ็บเต้านม เต้านมขยายใหญ่ขึ้น และไวต่อการสัมผัส ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงแรก ควรเลือกชุดชั้นในที่มีขนาดที่เหมาะสม และช่วยรองรับเต้านมได้ดี แต่หากมีอาการเจ็บเต้านมรุนแรง หรือคลำพบก้อนในเต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

9. ความต้องการทางเพศลดลง

ผลข้างเคียงยาคุมที่อาจพบในผู้หญิงบางคนคือการมีความรู้สึกทางเพศลดลง อารมณ์ทางเพศน้อยลง รู้สึกไม่ตื่นตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ หากใช้ยาคุมแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับความต้องการทางเพศ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ผลข้างเคียงยาคุมอื่น ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือด และมะเร็ง แต่พบได้น้อย อย่างไรก็ดี หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

โดยทั่วไป ผลข้างเคียงยาคุมมักหายไปภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากร่างกายปรับสภาพกับฮอร์โมนที่เป้นส่วนประกอบในตัวยาได้แล้ว แต่เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคุมกำเนิดเสมอ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาอื่นอยู่ รวมถึงคนที่ต้องการใช้ยาคุมเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้