Cholestasis (คอเลสเตซิส) เป็นโรคที่เกิดจากทางเดินท่อน้ำดีตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดคั่งของน้ำดีจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น อาการคันอย่างรุนแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง หรืออาเจียน โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรค ยาบางชนิด ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์
น้ำดีประกอบด้วยกรดน้ำดี คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองที่มีส่วนช่วยในการย่อย โดยบางส่วนถูกขับออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ หน้าที่ของน้ำดีคือจะช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยปกติตับจะผลิตน้ำดีขึ้นและเก็บไว้ภายในถุงน้ำดี และจะหลั่งน้ำดีเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเมื่อเริ่มกระบวนการย่อยอาหาร แต่หากท่อน้ำดีตีบหรืออุดตันก็อาจส่งให้การย่อยอาหารและการดูดซึมผิดปกติจนกระทบต่อร่างกาย
อาการของ Cholestasis
ภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตันมีทั้งชนิด Intrahepatic Cholestasis และชนิด Exyrahepatic Cholestasis ซึ่งมีอาการที่คล้ายกัน ดังนี้
- ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- คันอย่างรุนแรง แต่ไม่มีผื่น
- ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา
- ปัสสาวะสีเหลืองเข้มจนกระทั่งสีน้ำตาลในบางราย
- อุจจาระสีซีด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร
ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการเด่น คือ อาการคันอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า บางรายอาจรู้สึกคันทั่วตัว แต่ไม่มีผื่น อาการคันนี้จะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยมักรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนและในช่วงใกล้คลอด อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่แสดงอาการของโรค อย่างผู้ที่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคนี้ ถ้าหากผู้ป่วยพบสัญญาณของโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
สาเหตุของ Cholestasis
สาเหตุของโรคแบ่งได้ตามตำแหน่งที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ ดังนี้
ชนิด Intrahepatic Cholestasis
มีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในตับ อาจมาจากโรคและการติดเชื้อ เช่น
- โรคตับ
โรคตับอาจทำให้เกิดความเสียหายภายในตับและเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีได้ เช่น โรคตับแข็งทางเดินน้ำดี โรคตับจากแอลกอฮอล์ โรคฝีในตับจากเชื้อแบคทีเรีย โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis) โรคไวรัสตับอักเสบ โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) โรคมะเร็งตับ และโรคมะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
- โรคอื่น ๆ
โรคบางอย่างอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตับและทำให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้น อย่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคแอมีลอยด์ (Amyloidosis) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อเอชไอวี และโรควัณโรค
- การใช้ยา
ยาบางชนิดอาจทำให้ตับเกิดความผิดปกติจนเกิดโรคดังกล่าวขึ้น เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อรา ยาต้านอาการทางจิต และยาต้านจุลชีพ ยากลุ่มอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroid) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องให้อาหารผ่านทางหลอดเลือดดำอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้เช่นกัน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคชนิดได้สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด ผู้ที่มีประวัติการเป็นโรคตับ และผู้ที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติท่อน้ำดีตีบขณะตั้งครรภ์
ชนิด Exyrahepatic Cholestasis
เกิดจากความผิดปกติที่ไม่ได้มาจากตับ เช่น เนื้องอกในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ โรคถุงน้ำเทียมที่ตับอ่อน (Pseudocyst) เนื้องอกที่ตับอ่อน ท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ เนื้องอกบริเวณใกล้เคียงกดทับท่อน้ำดี เป็นต้น
การวินิจฉัย Cholestasis
ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติจากภายนอก จากนั้นจะสอบถามอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ หรือถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ในขั้นถัดไปอาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ ระดับของบิลิรูบิน และเอนไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (Alkaline Phosphatase) ที่มักเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี
- การตรวจอวัยวะภายในช่องท้องด้วยการสแกน อย่างซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอสแกน และอัลตราซาวด์
- การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography)
- การส่องกล้องเพื่อตัดเก็บและตรวจชิ้นเนื้อตับ (Biopsy)
การรักษา Cholestasis
การรักษาโรคจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำดีเกิดการตีบตัน ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย หากมีสาเหตุมาจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือเนื้องอกในท่อน้ำดี แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วหรือเนื้องอกนั้นออก บางรายที่มีสาเหตุจากการใช้ยา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาตัวใหม่ทดแทนเพื่อลดการตีบของท่อน้ำดี
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะเน้นไปที่การเฝ้าดูอาการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทั้งในแม่และเด็ก อย่างการตรวจเลือด การตรวจสุขภาพทารก (Nonstress Testing) หรือการตรวจการเคลื่อนไหวทารกในครรภ์ (Fetal Biophysical Profile) แต่หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่เพื่อความปลอดภัย ควรเข้ารับการตรวจโรคดังกล่าวภายหลังจากคลอดบุตรแล้วอีกครั้ง
ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการคัน แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดความเข้มข้นของกรดน้ำดีภายในเลือดหรือยาทาแก้คันให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ การแช่ในน้ำอุ่นและการอาบน้ำเย็นก็อาจช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
ภาวะแทรกซ้อนจาก Cholestasis
การคั่งของน้ำดีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ท้องเสีย ภาวะขาดสารอาหารเนื่องจากการดูดซึมผิดปกติ กระดูกเปราะเนื่องจากการดูดซึมผิดปกติเป็นเวลานาน และอวัยวะล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งอาการคันที่รุนแรงยังอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับได้ยาก
ในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมวิตามินบางชนิดที่ต้องการไขมันในการช่วยดูดซึม ซึ่งการขาดสารอาหารในช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกได้ นอกจากนี้ โรคดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างคลอดก่อนกำหนด อาการสำลักขี้เทา (Meconium) ภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือการคลอดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์
การป้องกัน Cholestasis
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคที่แน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อตับ ได้แก่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการใช้สารเสพติด เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ และหากพบอาการของโรค เช่น อาการคันรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ อุจจาระสีซีด ปัสสาวะเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ฯลฯ ควรไปพบแพทย์พบแพทย์ทันที สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองและเข้ารับการตรวจครรภ์อยู่เสมอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้