Anisocoria

ความหมาย Anisocoria

Anisocoria หรือภาวะรูม่านตาต่างขนาด เป็นภาวะที่ขนาดรูม่านตาไม่เท่ากันระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทั่วไปของร่างกาย การบาดเจ็บบริเวณดวงตา ความผิดปกติในกะโหลกศีรษะหรือสมอง เป็นต้น 

โดยปกติแล้ว ขนาดของรูม่านตาสามารถหดหรือขยายได้โดยขึ้นอยู่กับการรับแสง แต่การหดหรือขยายนั้นจะเป็นไปในขนาดเท่ากันระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง ทั้งนี้ ภาวะรูม่านตาต่างขนาดอาจหายไปเองหรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ

Anisocoria

อาการ Anisocoria

ผู้ที่มีภาวะ Anisocoria จะมีขนาดรูม่านตาที่ไม่สมส่วนกัน โดยจะเห็นว่ากลางดวงตาข้างใดข้างหนึ่งเป็นจุดสีดำวงเล็ก ๆ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น  มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ หรือสูญเสียการมองเห็น หนังตาตก เจ็บตา ไม่สามารถเคลื่อนไหวลูกตาได้อย่างปกติ ปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการเจ็บตึงที่ต้นคอบริเวณท้ายทอย เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์

สาเหตุของ Anisocoria

ภาวะรูม่านตาต่างขนาดอาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาหยอดตา หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหืด ซึ่งสาเหตุดังกล่าวไม่เป็นอันตราย 

อย่างไรก็ตาม อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • ดวงตาได้รับความบาดเจ็บหรือถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง 
  • เส้นประสาทตาติดเชื้อ ความดันในตาสูงเนื่องจากต้อหิน
  • มีเลือดออกภายในกะโหลก
  • ชัก
  • ความดันภายในกะโหลกเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสมองบวม 
  • โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 
  • มีเนื้องอกหรือฝีในสมอง 
  • ปวดหัวไมเกรน
  • เส้นเลือดบริเวณคอฉีกขาดหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดภาวะหนังตาตกที่ไม่รุนแรงร่วมด้วยในข้างที่รูม่านตามีขนาดเล็กกว่า
  • กลุ่มอาการฮอร์เนอร์

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะก่อนจะตามมาด้วยภาวะรูม่านตาต่างขนาด ควรเรียกรถฉุกเฉินหรือนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาจได้รับกระทบกระเทือนที่รุนแรงบริเวณดวงตา คอ หรือสมอง

การวินิจฉัย Anisocoria

แพทย์จะทำการสอบถามถึงประวัติทางการแพทย์ ทดสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาในห้องที่มีแสงและไม่มีแสงเพื่อดูการตอบสนองของรูม่านตาต่อแสง ทำให้แพทย์สามารถเห็นได้หากเกิดความผิดปกติบริเวณรูม่านตา และตรวจดูชีพจร 

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติมโดยขึ้นอยู่กับอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ดังนี้

  • การตรวจเลือด เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การวิเคราะห์จำนวนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด เป็นต้น
  • การตรวจรูม่านตา โดยแพทย์จะตรวจดูการตอบสนองของรูม่านตาด้วยการฉายไฟ ซึ่งจะตรวจหาว่าม่านตาข้างใดที่มีความผิดปกติ
  • การตรวจด้วยกล้องตรวจตา (Slit-lamp Microscope) เป็นการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นได้ทั้งภายนอกและภายในดวงตา 
  • การวัดความดันตา ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคต้อหิน
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณศีรษะ
  • การเอกซเรย์บริเวณคอ
  • การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง

การรักษา Anisocoria

โดยปกติผู้ที่มีภาวะ Anisocoria ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากเป็นภาวะที่ไม่กระทบต่อสุขภาพตาหรือการมองเห็น จึงไม่ใช่อาการที่เป็นอันตราย โดยบางคนอาจมีภาวะรูม่านตาต่างขนาดชั่วคราวหรือเป็นมีภาวะนี้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด 

อย่างไรก็ตาม หากภาวะดังกล่าวเกิดจากปัญหาทางสุขภาพด้านอื่น ๆ แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีที่ภาวะดังกล่าวเกิดจากอาการติดเชื้อ แพทย์จะจ่ายยาปฎิชีวนะหรือยาต้านไวรัสชนิดหยอดตา หรือในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี เพื่อกำจัดเนื้องอก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยหายจากภาวะ Anisocoria ด้วยเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของ Anisocoria

นอกจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากสาเหตุของโรคโดยตรงแล้ว ยังพบได้ว่าขนาดลูกตาดำมีการหดหรือขยายในขนาดที่ต่างกันระหว่างตาทั้งสองข้าง ทำให้การรับแสงในดวงตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน เกิดภาพซ้อน ภาพเบลอ การมองเห็นผิดปกติหรือไม่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้

การป้องกัน Anisocoria

ภาวะรูม่านตาต่างขนาดอาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดเดาได้ แต่อาจลดความเสี่ยงจากภาวะนี้ได้ด้วยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันหรืออุปกรณ์เสริมขณะเล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีการปะทะ ขณะขับขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์ การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือขณะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ศีรษะและร่างกายได้รับความเสียหายจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หากพบว่าขนาดม่านตามีความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ หรือรู้สึกถึงความผิดปกติด้านการมองเห็นควรปรึกษาแพทย์