Antipsychotics (ยาต้านอาการทางจิต)
Antipsychotics หรือยาต้านอาการทางจิต เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับสารสื่อประสาทโดพามีน อาจนำมาใช้เพียงชั่วคราวหรือในระยะยาวเพื่อลดอาการที่เกิดจากภาวะทางจิต อย่างการเห็นภาพหลอน หลงผิด หูแว่ว รวมถึงอาจนำมาใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อรักษาภาวะสมาธิสั้น พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ ความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้าชนิดที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย และโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ อาจนำไปใช้ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เพื่อช่วยรักษาอาการอารมณ์ดีผิดปกติ หรือภาวะกระวนกระวาย ซึ่งยากลุ่มนี้อาจใช้รักษาโรคให้หายขาดไม่ได้ แต่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคนั้น ๆ หรือทำให้อาการหายไปได้
ปัจจุบันแบ่งยา Antipsychotics ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Typical Antipsychotics และ Atypical Antipsychotics ซึ่งใช้รักษาอาการของโรคจิตเภทและอาการแมเนียของโรคไบโพลาร์ โดยแต่ละกลุ่มมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
Antipsychotics แบบเก่า (Typical Antipsychotics) ยากลุ่มนี้มักไม่ได้ใช้ร่วมกับการรักษาโรคไบโพลาร์ รวมทั้งไม่ค่อยนำไปใช้ในระยะยาวเพื่อรักษาหรือป้องกันอาการของโรคซึมเศร้า แต่อาจนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ทนต่อผลข้างเคียงของยากลุ่มใหม่ไม่ได้ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มใหม่ โดยมีตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาคลอร์โปรมาซีน ยาฮาโลเพอริดอล ยาเพอร์เฟนาซีน ยาฟลูเฟนาซีน เป็นต้น
Antipsychotics แบบใหม่ (Atypical Antipsychotics) เริ่มถูกนำมาใช้รักษาอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยใช้รักษาอาการด้านลบ อย่างอาการเฉยเมย ไม่ดูแลตนเอง และขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว ซึ่งมักจะใช้ยากลุ่มนี้ต่อเมื่อใช้ยาต้านโรคจิตแบบเก่ารักษาแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ ยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าและเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงด้านการเคลื่อนไหวผิดปกติน้อยกว่าด้วย นอกจากนั้น ยากลุ่มนี้อาจช่วยยับยั้งอาการหุนหันพลันแล่นและขาดการยั้งคิดในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือรักษาอาการซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกัน โดยมีตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาริสเพอริโดน ยาโอแลนซาปีน ยาเควไทอะปีน ยาไซพราซิโดน ยาอะริพิพราโซล ยาโคลซาปีน เป็นต้น
คำเตือนในการใช้ยา Antipsychotics
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้ ยาชนิดอื่น ๆ หรือแพ้สารต่าง ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่น ทั้งยาที่ซื้อรับประทานเอง ยาตามใบสั่งแพทย์ วิตามิน แร่ธาตุ อาหารเสริม และสมุนไพร เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับกลุ่มยา Antipsychotics จนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
- ยา Antipsychotics กลุ่มใหม่อย่างยาโคลซาปีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตอย่างภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจเลือดอยู่บ่อยครั้ง
- ยากลุ่ม Antipsychotics อาจทำให้รู้สึกง่วง จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวอย่างการขับรถ หรือการใช้เครื่องจักร และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้ง่วงซึมมากขึ้น
- ห้ามหยุดรับประทานยาหากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Antipsychotics
เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างกันไปด้วย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังใช้ยา ปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย ไปพบแพทย์หากอาการป่วยไม่ทุเลาลง ยังคงมีอาการอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาแต่ละกลุ่ม มีดังนี้
Antipsychotics แบบเก่า ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น มีอาการเฉื่อยชา การเคลื่อนไหวผิดปกติ คิดช้า อยู่ไม่สุข หน้ามืด มีปัญหาในการทำกิจกรรมทางเพศ ปวดหรือมีอาการกดเจ็บที่เต้านม หรือมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันอย่างกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง แขนขาสั่น เป็นต้น โดยหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากการได้รับยาในปริมาณมากเกินไป อาจต้องลดปริมาณยาที่รับประทานจนกว่าผลข้างเคียงเหล่านั้นจะดีขึ้น แต่หากจำเป็นต้องรับประทานยาปริมาณมากเพื่อควบคุมอาการทางจิต แพทย์มักให้รับประทานยากลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิกบางชนิดร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันอาการที่คล้ายโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตาม ควรปรับปริมาณยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
Antipsychotics แบบใหม่ การรับประทานยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการเฉื่อยชา ง่วงซึม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เวียนศีรษะ หน้ามืด เกิดผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติและอาการคล้ายโรคพาร์กินสันได้น้อยกว่ายากลุ่มแรก แต่กลับมีความเสี่ยงเกิดปัญหาด้านเพศสัมพันธ์มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มยาต้านอาการทางจิตแบบเก่า