Aripiprazole (อะริพิพราโซล)

Aripiprazole (อะริพิพราโซล)

Aripiprazole (อะริพิพราโซล) เป็นยาระงับอาการทางจิต ออกฤทธิ์โดยเข้าไปจับกับตัวรับสารสื่อประสาทในสมอง ใช้รักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจอย่างโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ กลุ่มอาการทูเร็ตต์ และอาการออทิสติก เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน ร้องอาละวาด ทำร้ายตัวเอง เป็นต้น นอกจากนี้ อาจนำไปใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Aripiprazole

กลุ่มยา ยาระงับอาการทางจิต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการทูเร็ตต์ 
อาการออทิสติก
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัว
ครรภ์   อ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอใน
การศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามี
ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

1942 Aripriprazole rs

คำเตือนในการใช้ยา Aripiprazole

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้หรือแพ้ยาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากส่วนผสมของยานี้บางชนิดอย่างโพรพิลีนไกลคอลอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้หรือมีอาการอื่น ๆ ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในสมอง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะหัวใจวาย โรคทางระบบประสาท โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โรคเบาหวาน โรคขาดความยับยั้งชั่งใจ โรคย้ำคิดย้ำทำ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ปัญหาในการกลืน ภาวะหายใจลำบากขณะนอนหลับ ภาวะคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง รวมถึงประวัติการป่วยหรือประวัติคนในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้สารเสพติด รวมถึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดขณะรับประทานยานี้ เนื่องจากอาจเกิดอาการเวียนศีรษะหรือรู้สึกง่วงได้
  • ระมัดระวังในการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านอนหรือท่านั่งเป็นลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป เนื่องจากยาชนิดนี้อาจทำให้เวียนศีรษะจนเป็นเหตุให้หกล้มหรือได้รับบาดเจ็บ
  • ยานี้อาจทำให้ง่วง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว จนกว่าจะแน่ใจว่าสามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย
  • การใช้ยาชนิดนี้มักทำให้ผู้ป่วยมีเหงื่อออกน้อย ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การออกกำลังกาย การทำงานหนักท่ามกลางอากาศร้อน หรือการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำร้อน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง ดื่มน้ำให้มากหากต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน และหากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ให้รีบหาที่พักและให้ความเย็นแก่ร่างกาย
  • ยา Aripiprazole ชนิดน้ำอาจมีส่วนผสมของน้ำตาล ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้ใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย
  • ผู้สูงอายุอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย เช่น อาการชัก อาการยึกยือ มีปัญหาในการกลืนอาหาร และอาจง่วงซึม เวียนศีรษะ หน้ามืด สับสน จนทำให้หกล้มได้ เป็นต้น รวมทั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อยอย่างการเสียชีวิตด้วย
  • เมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาใด ๆ อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อตามร้านขายยา ยาสมุนไพร หรือยาชนิดอื่น ๆ
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบที่จะได้รับจากการใช้ยาในระหว่างที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพราะหากรับประทานยานี้ในช่วง 3 เดือนก่อนคลอดอาจทำให้ทารกที่เกิดมาเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ลำบาก หายใจลำบาก มีอาการสั่น ง่วงซึม รับประทานอาหารได้ยาก มีอาการขาดยา หรือร้องไห้ไม่หยุด แต่ก็พบอาการเหล่านี้ได้น้อย อย่างไรก็ตาม หากพบอาการดังกล่าวในเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงเดือนแรกหลังคลอด ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที    
  • ไม่ควรให้นมบุตรในขณะที่รับประทานยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมและเป็นอันตรายแก่ทารกได้
  • ห้ามหยุดใช้ยาหากแพทย์ไม่ได้สั่ง เพราะอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่เกิดจากโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมาก เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • ผู้ป่วยวัยรุ่นบางรายอาจรู้สึกอยากฆ่าตัวตายในขณะที่รับประทานยานี้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตอื่น ๆ ดังนั้น แพทย์อาจต้องเฝ้าติดตามอาการทุกครั้งที่เข้าพบ โดยคนในครอบครัวและผู้ดูแลคนอื่น ๆ ก็ควรตื่นตัวและหมั่นสังเกตอาการหรืออารมณ์ของผู้ป่วยด้วย
  • ยานี้ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ แต่อาจช่วยควบคุมอาการที่เกิดขึ้น

ปริมาณการใช้ยา Aripiprazole

โรคจิตเภท
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Aripiprazole เพื่อรักษาโรคจิตเภท

ผู้ใหญ่
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10 หรือ 15 มิลลิกรัม/วัน แล้วใช้ยาในปริมาณคงที่ให้อยู่ที่ 15 มิลลิกรัม/วัน อาจปรับปริมาณยาโดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้นน้อยกว่าคนทั่วไป

เด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 วัน จากนั้นปรับปริมาณยาเป็น 5 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 วัน และอาจเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม โดยปริมาณยาที่แนะนำ คือ 10 มิลลิกรัม/วัน โดยเว้นระยะห่างในการปรับปริมาณยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์/ครั้ง และใช้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน

โรคไบโพลาร์ชนิดอารมณ์ดีผิดปกติแบบฉับพลัน
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Aripiprazole เพื่อรักษาโรคไบโพลาร์ชนิดอารมณ์ดีผิดปกติแบบฉับพลัน

ผู้ใหญ่
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 15 มิลลิกรัม/วัน โดยอาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 30 มิลลิกรัม/วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

ผู้สูงอายุ
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น
น้อยกว่าคนทั่วไป

เด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไป
รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้นปรับปริมาณยาเป็น 5 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 วัน และอาจเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม โดยปริมาณยาที่แนะนำ คือ 10 มิลลิกรัม/วัน โดยเว้นระยะห่างในการปรับปริมาณยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์/ครั้ง และใช้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน

อาการตื่นตระหนกฉับพลันหรือพฤติกรรมผิดปกติ
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Aripiprazole เพื่อรักษาอาการตื่นตระหนกฉับพลันหรือพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดจากโรคจิตเภทหรือโรคไบโพลาร์

ผู้ใหญ่

  • ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อปริมาณเริ่มต้น 9.75 มิลลิกรัม/ครั้ง และอาจฉีดยาอีกครั้งหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง โดยอาจฉีดยาปริมาณตั้งแต่ 5.25-15 มิลลิกรัม/ครั้ง ทั้งนี้ ปริมาณยาสูงสุดที่ควรได้รับทั้ง
  • ยาฉีดและยารับประทานไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับการฉีดยาได้เพียง 3 ครั้ง/วัน เท่านั้น

ผู้สูงอายุ
ให้ยาฉีดปริมาณเริ่มต้นน้อยกว่าคนทั่วไป  

การใช้ยา Aripiprazole

  • ใช้ยาตามฉลากและคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์
  • ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ โดยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องหากไม่เกิดความผิดปกติหรืออาการแทรกซ้อนใด ๆ และอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นจึงจะเห็นผลการรักษา
  • รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทางการรักษามากที่สุด และควรเติมยาก่อนยาหมด
  • อาจรับประทานยานี้ในตอนท้องว่างหรือหลังจากรับประทานอาหารก็ได้
  • ควรตวงปริมาณยาด้วยกระบอกฉีดยา ช้อนตวงยา หรือถ้วยยา หากไม่มีอุปกรณ์ตวงยา ควรขอจากแพทย์
  • หากต้องรับประทานยา Aripiprazole ชนิดเม็ดแตกตัวในปาก ห้ามใช้มือดันเม็ดยาออกมาจากแผ่นฟอยล์ แต่ให้ลอกแผ่นฟอยล์ออกก่อนแล้วจึงนำยาออกมา
  • หากต้องรับประทานยา Aripiprazole ชนิดเม็ด ให้นำยาเข้าปากทันทีที่แกะออกมาจากบรรจุภัณฑ์ และห้ามทำให้เม็ดยาแตก
  • หากเป็นยาชนิดเม็ด สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกลืนน้ำตาม เนื่องจากยาสามารถละลายได้เร็ว แต่หากรับประทานยาชนิดเม็ดแตกตัวในปาก อาจต้องรับประทานยาพร้อมกับน้ำด้วย
  • ห้ามใช้ยาหากยานั้นหมดอายุ โดยยา Aripiprazole ชนิดน้ำอาจมีอายุการใช้งาน 6 เดือนหลังจากเปิดขวด
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องรับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป โดยไม่ต้องรับประทานยาทดแทน
  • ให้เข้าพบแพทย์ทันทีหากรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โดยอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น อาเจียน ง่วงซึม ก้าวร้าว สับสน หัวใจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ มีอาการลมชัก สั่น มีปัญหาด้านการหายใจ หรือเป็นลม เป็นต้น
  • เก็บยาไว้ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น โดยอาจเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Aripiprazole

การใช้ยา Aripiprazole อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ โดยผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์หากพบอาการรุนแรงและไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยา Aripiprazole มีดังนี้

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นลม
  • เครียด กระวนกระวาย
  • อยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • แสบร้อนกลางทรวงอก
  • ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • เหนื่อยล้า
  • มีปัญหาด้านการพูด น้ำลายไหล
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • ปวดบริเวณแขน ขา หรือข้อต่อ
  • ร่างกายกระตุกขณะเคลื่อนไหว อยู่ไม่สุข กล้ามเนื้อสั่นหรือตึง แขนหรือขาตึง
  • มีปัญหาด้านการทรงตัว ยืนไม่มั่นคง เดินลากเท้า
  • ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า คอ และหลัง   
  • ซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบแพทย์ทันที

  • มีไข้สูง
  • มีเหงื่อออกมาก
  • รู้สึกสับสน อารมณ์แปรปรวน
  • มีปัญหาในการกลืนหรือเคี้ยวอาหาร
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป
  • สั่น อยู่นิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณขา
  • ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งเร้าอย่างการพนัน การมีเซ็กส์ การรับประทานอาหาร หรือการซื้อของได้
  • กล้ามเนื้อคอ บริเวณคอ หรือใบหน้าตึง กล้ามเนื้อหดเกร็ง เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก
  • เคลื่อนไหวร่างกายหรือใบหน้าได้อย่างไม่ปกติและควบคุมไม่ได้
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็วผิดปกติ หายใจผิดปกติในขณะที่นอนอยู่
  • เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น มีอาการบวมบริเวณตา ปาก ริมฝีปาก หน้า ลิ้น คอ มือ เท้า ข้อเท้า หรือขาด้านล่าง คัน มีผื่นขึ้น หรือมีอาการลมพิษ เป็นต้น
  • มีอาการลมชัก หกล้ม