Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ เป็นโรคทางจิตเวชที่อาจทำให้รู้สึกกลัวความผิดพลาดหรือความไม่สมบูรณ์แบบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น เคยมีเหตุการณ์ฝังใจที่เกี่ยวกับความผิดพลาด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง โดย Atelophobia อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคการกินผิดปกติ
Atelophobia เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทโรคกลัว (Phobia) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอย่างรุนแรงในสิ่งต่าง ๆ ที่มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งนี้ หากมีอาการของโรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ หรือ Atelophobia ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา โดยจิตแพทย์อาจแนะให้รักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จิตบำบัด การใช้ยา
ลักษณะของผู้ที่เป็น Atelophobia
หลายคนอาจสับสนระหว่างโรค Atelophobia กับลักษณะนิสัยแบบ Perfectionist ซึ่งทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกัน โดย Perfectionist เป็นลักษณะนิสัยชนิดหนึ่งที่มักทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายนั้นสมบูรณ์หรือไร้ข้อผิดพลาด
ในขณะที่ Atelophobia เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีความกลัวอย่างรุนแรงในความไม่สมบูรณ์แบบ และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตนเองอาจก่อให้เกิดความผิดพลาด จนมักส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว โดยผู้ที่เป็น Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ อาจมีลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดของตนเองในอดีตอยู่เสมอ และอาจรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดตนเอง
- มองตัวเองในแง่ลบ โดยอาจกังวลว่าตนเองไม่ดีพอหรือไม่มีความสามารถมากพอ
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และมีอาการหมดไฟ
- ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
- ไม่สามารถรับฟังคำติชมได้ เพราะรู้สึกว่าคำติชมเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตนเองไม่สมบูรณ์แบบ
- โทษตัวเองหรือรู้สึกซึมเศร้าหลังจากไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้
- เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อาจรู้สึกเครียด กังวล หรือไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่น ๆ ได้นอกจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
- เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาด อาจเกิดอาการแพนิคต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้www.pobpad.com/คลื่นไส้ เหงื่อออกเยอะ ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ท้องไส้ปั่นป่วน
นอกจากนี้ ความกลัวหรือความกังวลอย่างรุนแรงจาก Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพอ ยังอาจส่งผลให้รู้สึกเบื่ออาหาร และมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับอีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิด Atelophobia
Atelophobia เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- เคยมีเหตุการณ์ฝังใจบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เคยถูกลงโทษหรือถูกทำให้อับอายเมื่อทำผิดพลาด
- เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน หรือเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนไม่ยอมรับความผิดพลาด
- ได้รับแรงกดดันหรือความคาดหวังจากครอบครัวให้ลูกต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกกลัวในความไม่สมบูรณ์แบบหรือความผิดพลาดได้
นอกจากนี้ หากบุคคลในครอบครัวหรือตนเองมีประวัติป่วยเป็นโรคกลัว โรควิตกกังวล และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ อาจมีโอกาสเสี่ยงในการเป็น Atelophobia สูงกว่าผู้อื่น
วิธีการรับมือเมื่อมีสัญญาณของอาการ Atelophobia
ความกลัวหรือความกังวลอย่างรุนแรงจาก Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพออาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เพราะอาจทำให้รู้สึกกังวลและกลัวว่าจะทำผิดพลาด จนอาจต้องสูญเสียโอกาสในการทำงานหรือการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย
ดังนั้น หากมีสัญญาณของ Atelophobia ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษา Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพออาจทำได้ดังนี้
1. การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT)
การบำบัดความคิดและพฤติกรรมอาจช่วยรักษา Atelophobia ผ่านการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์และความผิดพลาดของตนเองจากแง่ลบให้กลายเป็นแง่บวก โดยการปรับเปลี่ยนแนวความคิดอาจส่งผลให้พฤติกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา ซึ่งอาจช่วยให้สามารถรับมือหรือเอาชนะกับความกลัวหรือความกังวลที่เกิดขึ้นได้
2. การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า (Exposure therapy)
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัวอาจช่วยให้เอาชนะความกลัวที่เกิดขึ้นจาก Atelophobia หรือโรคกลัวตัวเองไม่ดีพอได้ โดยจิตแพทย์อาจแนะนำให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว จนรู้สึกคุ้นชิน และไม่กลัวความผิดพลาดหรือความไม่สมบูรณ์แบบอีกต่อไป
3. การใช้ยารักษา
การใช้ยาอาจไม่ได้ช่วยให้รู้สึกกลัวความไม่สมบูรณ์แบบหรือความผิดพลาดลดลง แต่อาจช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ โดยจิตแพทย์อาจใช้ยาร่วมกับการรักษารูปแบบอื่น เช่น ยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล หรือยาระงับประสาทต่าง ๆ
4. การทำจิตใจให้สงบ
การทำจิตใจให้สงบด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจเข้า-ออกลึก ๆ หรือการนั่งสมาธิ เป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้ที่มีอาการของโรคกลัวตัวเองไม่ดีพออาจใช้เมื่อรู้สึกกลัว เครียด หรือกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาด ซึ่งการทำจิตใจให้สงบอาจช่วยให้จดจ่อกับปัจจุบันแทนการคิดถึงความกลัวต่าง ๆ รวมทั้งยังช่วยลดความเครียด และความกังวลที่เกิดจาก Atelophobia ได้อีกด้วย
5. การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ
การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โยคะ การเดิน การทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือการทำงานบ้าน อาจกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยให้รู้สึกดี อีกทั้งยังอาจช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความกลัวหรือความกังวลที่เกิดขึ้นได้ด้วย
6. การปรับเปลี่ยนแนวคิด
บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนต่างเคยทำผิดพลาด ดังนั้น ความผิดพลาดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องผิดปกติ ผู้ที่มีอาการ Atelophobia อาจลองปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความผิดพลาด โดยเปลี่ยนจากการโทษตัวเองเมื่อเกิดความผิดพลาด เป็นการเรียนรู้หรือได้ข้อคิดใหม่ ๆ จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเก็บไว้เป็นประสบการณ์ และนำไปปรับใช้เพื่อให้เป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยส่วนใหญ่แล้ว Atelophobia มักดีขึ้นได้ด้วยการไปพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ผู้ที่มี Atelophobia อาจหยุดการรักษาได้ แต่ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบรุนแรงขึ้นหรือกลับมาเป็นซ้ำ