Atkins Diet หรืออาหารแอตกิ้นส์ เป็นรูปแบบการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งเชื่อกันว่า มีส่วนช่วยลดน้ำหนักตัวได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แม้เราจะรับประทานโปรตีนและไขมันตามปกติก็ตาม ตราบใดที่ยังหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวก็อาจลดลงได้
ผู้คิดค้นกล่าวว่า Atkins Diet นั้นเป็นรูปแบบอาหารที่จะดีต่อสุขภาพไปทั้งชีวิต ไม่ว่าเป้าหมายของเราจะเป็นการลดน้ำหนัก การเติมพลังงานให้ร่างกายในแต่ละวัน หรือการใช้ Atkins Diet เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับอาหารรูปแบบนี้ให้มากขึ้น
ทำความรู้จักกับ Atkins Diet
ด้วยการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตสูงและไขมันต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกันอย่างโรคหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
Atkins Diet จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยส่งเสริมให้เกิดการรับประทานอาหารที่สมดุลทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันดี เพื่อลดความอยากอาหาร ลดน้ำหนัก และมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ ปลาที่มีไขมันสูง อาหารทะเล ไข่ ผลิตภัณฑ์นมเต็มมันเนย หรือผักที่มีใยอาหารสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ แทนอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล ธัญพืช และไขมันทรานส์สูงนั่นเอง
ในเบื้องต้น รูปแบบของ Atkins Diet จะมีอยู่ 4 ระยะด้วยกัน ดังนี้
ระยะที่ 1 หรือ Induction
ระยะแรกจะเป็นการปรับร่างกายให้ดึงไขมันที่สะสมอยู่มาใช้เป็นพลังงานแทนที่คาร์โบไฮเดรต ผู้บริโภคจะต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตเพียง 20 กรัมต่อวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เน้นผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาทิ ผักใบเขียว บรอกโคลี ผักเคล หรือผักโขม ไม่จำเป็นต้องงดหรือจำกัดปริมาณการรับประทานโปรตีนและไขมัน และหมั่นดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ซึ่งวิธีเหล่านี้อาจส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
ส่วนอาหารที่ควรงดในช่วงเริ่มต้นของ Atkins Diet จะประกอบไปด้วยผักและผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ขนมขบเคี้ยวหรือขนมปังที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ น้ำมันจากพืชอย่างน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันคาโนลา พาสต้า ธัญพืชอย่างข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ ถั่ว และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคบางรายมีพฤติกรรมการรับประทานที่ตรงกับระยะนี้อยู่แล้วอย่างนักมังสวิรัติ อาจเริ่มที่ระยะถัดไปได้เลย และหากการลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือเพียง 20 กรัมต่อวันเป็นการเริ่มต้นที่ยากเกินไป สามารถใช้สูตรที่เคร่งน้อยกว่าอย่าง Atkins 40 หรือการลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือ 40 กรัมต่อวันได้
ระยะที่ 2 หรือ Balancing
ในระยะนี้ ผู้บริโภคอาจค่อย ๆ เพิ่มอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างผลไม้ตระกูลเบอร์รี ถั่ว หรือเมล็ดพืชในมื้ออาหารทีละน้อย เพื่อหาปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สมดุลที่สามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลให้น้ำหนักตัวพุ่งสูงขึ้น
ระยะที่ 3 หรือ Fine-tuning
หากน้ำหนักตัวเข้าใกล้ระดับที่ต้องการแล้ว เราสามารถเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตประมาณ 10 กรัมต่อสัปดาห์จากการรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นได้ โดยในระหว่างนี้น้ำหนักตัวของเราจะลดช้าลง หากรับประทานตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดก็จะทำให้น้ำหนักลดจนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
หากน้ำหนักยังเท่าเดิมหรือมีท่าทีจะเพิ่มขึ้นหลังเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหาร ควรลดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เพื่อควบคุมให้น้ำหนักลดลงเช่นเดิม
ระยะที่ 4 หรือ Maintenance
เมื่อน้ำหนักตัวลดลงตามที่ต้องการแล้ว ผู้บริโภคสามารถรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเท่าเดิมได้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่ จะได้ไม่กลับไปเผชิญกับน้ำหนักตัวที่มากขึ้นอีกครั้ง
ความเสี่ยงของการรับประทาน Atkins Diet
แม้ Atkins Diet อาจมีส่วนในการลดน้ำหนักหรือการดูแลปัญหาสุขภาพบางประการ แต่ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน ผู้ที่สนใจจะบริโภคอาหารประเภทนี้จึงควรคำนึงถึงผลกระทบดังต่อไปนี้ด้วย
- การลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตอย่างฉับพลันในระยะแรก ๆ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนแรง เหนื่อยล้า ท้องผูก
- หากผู้บริโภครับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือได้รับใยอาหารไม่เพียงพอ จนนำไปสู่ปัญหาท้องผูก ท้องเสีย และคลื่นไส้ได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคคอเลสเตอรอลสูง หรือกำลังใช้ยาบางชนิดอย่างยาขับปัสสาวะหรือยารักษาโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการรับประทาน Atkins Diet
- ผู้ป่วยโรคไตรุนแรง สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยการรับประทาน Atkins Diet ในระยะยาวยังมีไม่เพียงพอที่จะบอกได้อย่างแน่ชัดว่า อาหารประเภทนี้ดีต่อสุขภาพและช่วยในการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยหรือไม่ ผู้ที่สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลหรือขอคำแนะนำจากนักโภชนาการก่อนเสมอ เพื่อให้การลดน้ำหนักในครั้งนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้