BMI ข้อควรรู้เกี่ยวกับดัชนีมวลกาย

ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) คือการประมาณปริมาณไขมันในร่างกายเบื้องต้นโดยใช้ส่วนสูงและน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นค่าที่ได้แบบคร่าว ๆ เท่านั้น หากมีค่าดัชนีมวลกายสูงก็อาจคาดการณ์ได้ว่าผู้ที่ตรวจวัดมีระดับไขมันในร่างกายสูงและอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าหากมีค่าดัชนีมวลกายต่ำเกินไป ก็อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูก หรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง รวมทั้งโรคโลหิตจาง ได้เช่นกัน

BMI

ค่าดัชนีมวลกายนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณไขมันในร่างกาย ซึ่งถือเป็นการคัดกรองเบื้องต้น โดยหากพบว่าผู้ป่วยมีค่าดัชนีมวลกายสูง แพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การวัดความหนาของผิวหนัง (Skinfold Thickness Measurements) และอาจมีการซักประวัติเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย ประวัติครอบครัว หรือเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรค

การคัดกรองด้วยค่าดัชนีมวลกายโดยปกติจะใช้กับผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีจะใช้ค่าดัชนีมวลกายในการคัดกรองเบื้องต้น หากจะวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติจะต้องใช้ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์สำหรับเด็กร่วมด้วย จึงจะได้ผลที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในคนบางกลุ่ม เช่น นักกีฬา ผู้มีรูปร่างที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หรือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากในกลุ่มคนเหล่านี้ ค่าดัชนีมวลกายที่ได้จะไม่สามารถบ่งบอกปริมาณไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือความเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ ได้ และจะต้องใช้ปัจจัยอื่น ๆ ร่วมพิจารณาด้วย

วิธีการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย

การคำนวณค่าดัชนีมวลกายจะใช้วิธีเดียวกัน ทั้งชายและหญิง โดยจะนำเอาส่วนสูง และน้ำหนักตัวมาคำนวณด้วยวิธีต่อไปนี้

ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย [ความสูง (เมตร) ยกกำลัง 2]

ตัวอย่างเช่น:

น้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม

ความสูง 1.65 เมตร (165 เซนติเมตร)

ค่าดัชนีมวลกาย =  68 / (1.65 x 1.65) = 24.98

และเมื่อได้ค่าดัชนีมวลกายแล้วก็จะนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของค่าดัชนีมวลกายเพื่อคัดกรองว่าผู้ป่วยนั้นอยู่ในคนกลุ่มใด

ค่ามาตรฐานของดัชนีมวลกายเป็นอย่างไร ?

โดยปกติคนเอเชียจะใช้ค่ามาตรฐานดัชนีมวลกายเท่ากัน ซึ่งค่ามาตรฐานของดัชนีมวลกายเหล่านี้จะเป็นเกณฑ์โดยคร่าว ๆ เท่านั้น และอาจแบ่งเป็น 4 ระดับใหญ่ ๆ คือ

  • ผอม น้อยกว่า 18.5
  • ปกติ 18.5-22.9
  • อ้วนเล็กน้อย 23.0-24.9
  • อ้วนปานกลาง (อ้วนระดับ 1) 25.0-29.9
  • อ้วนมาก (อ้วนระดับ 2) มากกว่า 30.0

หรือในบางแห่งอาจแยกย่อยลงไปอีกตามเกณฑ์ดังนี้

  • ผอมมาก (ผอมระดับ 3) น้อยกว่า 16.0
  • ผอมปานกลาง (ผอมระดับ 2) 16.0-16.9
  • ผอมเล็กน้อย (ผอมระดับ 1) 17.0-18.4
  • ผอม น้อยกว่า 18.5
  • ปกติ 18.5-22.9
  • น้ำหนักเกิน มากกว่าหรือเท่ากับ 23.0
  • อ้วนเล็กน้อย 23.0-24.9
  • อ้วนปานกลาง (อ้วนระดับ 1) 25.0-29.9
  • อ้วนมาก (อ้วนระดับ 2) มากกว่า 30.0

ดัชนีมวลกายสามารถระบุความเสี่ยงสุขภาพได้หรือไม่ ?

แม้จะสามารถช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ แต่ค่าดัชนีมวลกายก็ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการประเมินสุขภาพเท่านั้น จึงไม่สามารถระบุความเสี่ยงสุขภาพได้ เนื่องจากคนบางกลุ่มนั้นอาจมีค่าดัชนีมวลกายสูง แต่ไม่ใช่คนที่เป็นโรคอ้วน หรืออาจมีผู้ป่วยบางคนผอมและมีค่าดัชนีมวลกายต่ำ แต่มีระดับของคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงก็เป็นไปได้เช่นกัน จึงต้องใช้ปัจจัยอื่น ๆ เสริมด้วยถึงจะสามารถระบุความเสี่ยงสุขภาพได้ เช่น

  • ปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกาย
  • ระดับการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ลักษณะร่างกาย
  • อายุ
  • ชาติพันธุ์

นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีตรวจวัดชนิดอื่น ๆ เช่น การวัดความหนาของผิวหนังด้วยคลิปหนีบวัดไขมัน การชั่งน้ำหนักในน้ำ หรือการวัดองค์ประกอบของร่างกายโดยใช้หลักการกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลที่ได้รับจากผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่หากต้องการวัดด้วยตัวเองก็สามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การวัดรอบเอว ด้วยการนำสายวัดตัววัดที่รอบเอว โดยเริ่มวัดตั้งแต่ขอบกระดูกสะโพกด้านบน วัดผ่านบริเวณหน้าท้องจนครบรอบ ทั้งนี้เพื่อให้ห่างไกลจากภาวะน้ำหนักเกิน ควรมีรอบเอวดังนี้

  • ผู้ชาย ไม่เกิน 35.5 นิ้ว
  • ผู้หญิง ไม่เกิน 31.5 นิ้ว

การวัดอัตราส่วนเอวต่อสะโพก เป็นการวัดโดยนำรอบเอวมาเปรียบเทียบกับความสูง ซึ่งจะให้ผลที่ดีกว่าการวัดรอบเอวเพียงอย่างเดียว โดยค่าที่ได้ซึ่งดีต่อสุขภาพคือ รอบเอวจะต้องน้อยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความสูง

ทั้งนี้เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ ครบแล้ว แพทย์จะนำมาวินิจฉัยหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสุขภาพหรือไม่

ค่าดัชนีมวลกายสูง และเป็นโรคอ้วน เสี่ยงกับโรคอะไรบ้าง ?

ในกรณีที่มีค่าดัชนีมวลกายสูง และถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ได้แก่

  • เสี่ยงต่อความเสี่ยงการเสียชีวิตทุกชนิด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • คอเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี
  • โรคข้อเข่าเสื่อม
  • ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หรือปัญหาในการหายใจ
  • การอักเสบเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
  • เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกายเนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต อันเนื่องมาจากความยากลำบากในการใช้ชีวิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และโรคจิตเวชอื่น ๆ นอกจากนี้อาจทำให้ความมั่นใจลดลง ไม่กล้าแสดงออก เก็บตัว และมีปัญหาในการเข้าสังคมได้

ค่าดัชนีมวลกายเป็นการคัดกรองเบื้องต้นที่สามารถใช้เพื่อประเมินรูปร่างและสุขภาพของตัวเองในเบื้องต้นได้ แต่ก็ไม่ควรยึดติดกับค่าดังกล่าวจนเกินไป เพราะอาจทำให้กังวลกับการควบคุมน้ำหนักและส่งผลเสียต่อสุขภาพในภายหลังได้