Bupropion
Bupropion (บูโพรพิออน) คือ ยาต้านเศร้าชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นต้น นอกจากนี้ อาจนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วย
เกี่ยวกับ Bupropion
กลุ่มยา | ยาต้านเศร้า |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคซึมเศร้า และช่วยให้เลิกบุหรี่ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานกลุ่มยา |
คำเตือนในการใช้ Bupropion
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารชนิดใดก็ตาม
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้อยู่ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนส่งผลให้เกิดอาการชักได้
- ไม่ควรใช้ยา Bupropion ในช่วง 14 วันก่อนหน้า หรือ 14 วันหลังจากใช้ยากลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีน บลู ยาฟีเนลซีน ยาเซเลกิลีน เป็นต้น
- ไม่ควรใช้ยานี้หากป่วยเป็นโรคลมชัก โรคความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เพิ่งหยุดใช้ยากันชัก ยากล่อมประสาท หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างกะทันหัน
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคลมชัก มีเนื้องอกที่ไขสันหลัง หรือกำลังป่วยเป็นโรคต้อหิน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย เบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคไบโพลาร์ หรือโรคความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ
- ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ ยาอาจทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะในวัยรุ่น ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการดังกล่าวหรือมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
- ยาอาจทำให้ผลการตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อนได้ หากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าตนกำลังใช้ยานี้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- ผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยานี้ เนื่องจากยา Bupropion สามารถซึมผ่านน้ำนมแม่และอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ทารกได้
ปริมาณการใช้ Bupropion
รักษาโรคซึมเศร้า
ผู้ใหญ่
- เริ่มต้นรับประทานยาที่ปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน และอาจเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือหากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นก็อาจเพิ่มปริมาณเป็น 150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยปริมาณการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
- ยาชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณเป็น 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังผ่านไป 3 วัน และอาจเพิ่มปริมาณเป็น 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังจากผ่านไปสองถึงสามสัปดาห์หากอาการยังไม่ดีขึ้น โดยปริมาณการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 450 มิลลิกรัมต่อการรับประทาน 1 ครั้ง
ผู้สูงอายุ
- ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที เริ่มต้นรับประทานยาที่ปริมาณ 37.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ยาชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มต้นรับประทานวันละ 100 มิลลิกรัม โดยอาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีก 37.5-100 มิลลิกรัม ทุก 3-4 วัน ตามความสามารถในการทนต่อยาของผู้ป่วย โดยมีปริมาณการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน และแบ่งใช้ยาเป็นหลายครั้ง
เลิกบุหรี่
ผู้ใหญ่
ยาชนิดออกฤทธิ์นาน เริ่มต้นรับประทานยาที่ปริมาณวันละ 150 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 6 วัน จากนั้นอาจเพิ่มปริมาณเป็น 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7-9 สัปดาห์ โดยปริมาณการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน หากการรักษาไม่เห็นผลใน 7 สัปดาห์ ควรหยุดใช้ยา
ผู้สูงอายุ
รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 7-9 สัปดาห์
การใช้ Bupropion
- อ่านฉลากแนะนำการใช้ยาให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินกว่าที่ระบุ
- ห้ามบด เคี้ยว หรือแบ่งยา แต่ให้รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นานโดยกลืนลงไปทั้งเม็ด
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการนอนหลับ ไม่ควรใช้ยานี้ก่อนนอน
- หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานยาทันที แต่หากเป็นเวลาใกล้กับการรับประทานยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาในมื้อต่อไป ไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทน
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาการเลิกสูบบุหรี่ควบคู่กันไปด้วย
- ไม่ควรปรับเปลี่ยนปริมาณยาหรือหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันด้วยตนเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติจากการขาดยาได้ ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการชักขณะรับประทานยาชนิดนี้
- หากสงสัยว่าตนอาจใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ โดยสังเกตได้จากอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก เห็นภาพหลอน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ หายใจไม่อิ่ม เป็นลม เป็นต้น
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นและความร้อน
ผลข้างเคียงจากการใช้ Bupropion
การใช้ยา Bupropion อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยมีอาการที่พบได้บ่อย เช่น ปากแห้ง คัดจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ท้องผูก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ปวดข้อ เป็นต้น ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้า ปาก ลิ้น หรือคอบวม เกิดอาการทางผิวหนังที่รุนแรงอย่างผิวไหม้ เจ็บตามผิวหนัง มีผื่นสีแดงหรือม่วง เป็นต้น
- มีอาการเกี่ยวกับดวงตา เช่น ปวดตา ตาบวม มองเห็นไม่ชัดเจน การมองเห็นแคบลง เป็นต้น
- อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
- หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการชัก
- มีอาการของโรคไบโพลาร์แบบตื่นตัวผิดปกติกำเริบ เช่น มีความคิดมากมายแล่นอยู่ในหัว อยู่ไม่สุข มีความสุขเป็นอย่างมาก พูดคุยมากกว่าปกติ หงุดหงิดมาก นอนไม่หลับอย่างรุนแรง เป็นต้น