Burnout หรือที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเป็นอาการหมดไฟและหมดแรงจูงใจในการทำงาน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียดจากงาน ทำงานหนักเกินไป หรือทำงานที่ไม่ตรงกับแนวทางของตนเอง เป็นต้น ซึ่งอาจรับมือได้ด้วยการออกกำลังกาย จัดการกับความเครียด หรือปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน แต่หากอาการ Burnout เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยอย่างโรคซึมเศร้าหรืออาการอื่น ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมตามแต่กรณี
Burnout คือ อะไร ?
Burnout เกิดจากความเหน็ดเหนื่อยที่มักเป็นผลมาจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยอาจทำให้อ่อนเพลีย เฉยชาต่อทุกสิ่ง รู้สึกล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญบางรายคาดว่า Burnout อาจเป็นอาการของภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการใช้ชีวิตแบบเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลาจนทำให้รู้สึกกดดันมาก เหนื่อยหมดแรง ว่างเปล่า และหมดไฟไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม อาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมาอาจใกล้เคียงกับอาการของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้าได้ แต่อาจต่างกันตรงที่ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่จากการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็น Burnout และหากวินิจฉัยไม่รอบคอบถ้วนถี่ก็อาจทำให้รักษาผิดทางได้
สาเหตุของ Burnout
Burnout อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- มีปัญหาการจัดการ ไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งสำคัญในการทำงานได้ เช่น ไม่สามารถกำหนดตารางงานของตนเองได้ หรือไม่สามารถรับผิดชอบงานของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การ Burnout ได้
- ภาระงานและสิ่งที่ถูกคาดหวังไม่ชัดเจน หากสิ่งที่ถูกคาดหวังจากเจ้านาย หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ นั้นไม่ชัดเจนเพียงพอ อาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจขณะทำงานได้
- งานที่ทำไม่เหมาะกับตนเอง หากงานที่ทำไม่เหมาะกับความสามารถและความสนใจของตนเอง อาจทำให้รู้สึกเครียดตลอดเวลาได้
- งานที่ทำต้องใช้ความกระตือรือร้นอย่างมาก หากการทำงานค่อนข้างวุ่นวายจนต้องใช้พลังงานที่มีทั้งหมดมุ่งไปที่งานตลอดเวลา อาจทำให้ยิ่งเหนื่อยล้าและหมดไฟได้ในที่สุด
- ขาดแรงสนับสนุนทางสังคม หากต้องอยู่โดดเดี่ยวในที่ทำงานหรือในชีวิตจริง อาจส่งผลให้ยิ่งเครียดมากขึ้นได้
- ขาดสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน หากงานที่ทำนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและแรงกายเป็นอย่างมาก หรืองานกินเวลาส่วนตัวไปด้วย อาจทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงเหลือพอไปเข้าสังคมหรือสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว จนปรากฏอาการหมดไฟเร็วขึ้นได้
สังเกตตนเองอย่างไรว่ามีอาการ Burnout ?
ภาวะ Burnout อาจมีสัญญาณบอกอาการ ดังนี้
- หมดแรง สูญสิ้นพลังงานในการทำทุกอย่าง
- ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานเริ่มทำให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ
- เริ่มบ่นหรือวิจารณ์งานที่ทำ
- รู้สึกท้อแท้กับงานที่ทำอยู่
- ไม่พึงพอใจในความสำเร็จที่ทำได้
- นึกถึงปัญหาเรื่องงานตลอดเวลา แม้ตอนกำลังรับประทานอาหารหรือตอนนอน
- มีปัญหาในการนอนและการรับประทานอาหาร
- เริ่มหงุดหงิดใจร้อนกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า
- ชีวิตยุ่งเหยิง ขาดความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน
- ต้องพยายามกระตุ้นให้ตัวเองมาทำงาน และมีปัญหาในการเริ่มทำงานเมื่อมาถึงที่ทำงานอีกด้วย
- พึ่งยาแอลกอฮอล์หรืออาหารอื่น ๆ เพื่อทำให้ตนรู้สึกดีขึ้น
รับมือกับปัญหา Burnout อย่างไรดี ?
หากพบว่าตนเองมีสัญญาณของอาการ Burnout อาจเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้สุขภาพร่างกายและจิตใจทรุดโทรมไปมากกว่าเดิม โดยวิธีการรับมือกับปัญหา Burnout มีดังนี้
ดูแลสุขภาพ เมื่อทำงานหนักเกินไปหรือมีภาระงานมาก อาจทำให้ไม่มีเวลารับประทานอาหารกลางวัน ไม่ได้ออกกำลังกาย นอนน้อย หรือนอนดึก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงและทำให้รู้สึกหมดไฟเร็วขึ้น การดูแลสุขภาพจึงอาจช่วยให้รับมือกับปัญหา Burnout ได้ ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน อาจช่วยเสริมสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น และควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายหรือออกกำลังกายเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง/สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ เพราะอาจช่วยคลายความเครียด และช่วยให้สมองได้พักจากการคิดเรื่องงานไปสนใจสิ่งอื่นแทน
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารครบทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ และเลือกรับประทานแต่สิ่งที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่มีไขมันดีและโปรตีนอาจช่วยให้ร่างกายสงบลงได้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงกาแฟและน้ำตาล เพราะอาจมีฤทธิ์เพิ่มความเครียดจนทำให้มีอาการแย่ลงได้
ทำงานแต่พอดี อย่าพยายามคิดว่าตนเองเป็นยอดมนุษย์ที่ทำได้ทุกอย่าง แม้ในบางครั้งหัวหน้างานอาจคิดเช่นนั้นก็ตามจึงมักเร่งให้ทำงานที่ต้องใช้เวลามากแต่กำหนดให้แล้วเสร็จในเวลาอันสั้น ซึ่งหลายคนอาจอยากรับผิดชอบให้งานสำเร็จเรียบร้อยเพื่อสร้างความประทับใจ แต่อย่าลืมว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ และไม่อาจแก้ปัญหาของบริษัทด้วยตัวคนเดียวได้ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกกดดันและเพิ่มความวิตกกังวลขึ้นได้ด้วย ดังนั้น จึงควรปรึกษากับหัวหน้างานเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน เพราะหากไม่หาทางแก้ ปัญหาอาจคงอยู่อย่างเรื้อรัง จนส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและร่างกายในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
หาทางออกเพื่อจัดการกับความเครียด ความเครียดอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะ Burnout ได้ ให้ลองนึกว่าอะไรบ้างที่ทำให้รู้สึกเครียดหรือทำให้เริ่มหมดไฟ แล้วรีบจัดการและหาวิธีแก้ไขในส่วนดังกล่าว ซึ่งอาจลองปรึกษาหัวหน้างานเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น หาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน หรืออาจหาที่ปรึกษาและผู้ที่อาจให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ได้ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือคนรัก เป็นต้น เพื่อให้ช่วยร่วมกันคิดและช่วยให้คำแนะนำในการตัดสินใจ
ประเมินตนเองและงานที่ทำอยู่ เพื่อให้ทราบว่าตนเองเหมาะกับงานที่ทำอยู่แล้วหรือไม่ โดยอาจเริ่มจากถามตัวเอง หรือสังเกตตัวเองเกี่ยวกับงานและองค์กรในมุมมองต่าง ๆ เช่น องค์กรมีทางเลือกหรือให้สิทธิในการเสนอแนวทางต่าง ๆ ร่วมกันหรือไม่ การปรับเวลาของตนเองกับองค์กรและการทำงานนอกออฟฟิศเป็นอย่างไร องค์กรมีทางเลือกสำหรับการศึกษาต่อหรือการพัฒนาสู่การเป็นมืออาชีพหรือไม่ แท้จริงแล้วตนถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ หรือชอบและรักที่จะทำอะไร เป็นต้น จากนั้นจึงนำคำตอบที่ได้มาประเมินว่าตนเองเหมาะสมกับงานที่ทำอยู่หรือไม่ และควรทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้คำแนะนำข้างต้นอาจทำให้อาการ Burnout ที่เกิดจากความเหนื่อยล้าในการทำงานดีขึ้นได้ แต่หากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า หรือสังเกตเห็นได้ว่าอาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทางจิตวิทยาหรือใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ต่อไป เพราะหากไม่รีบรักษา อาการ Burnout อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น ปัญหาเครียดสะสม ภาวะนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น