Carnivore Diet ถือเป็นเทรนด์การกินอาหารรูปแบบหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะเชื่อกันว่าอาจช่วยลดน้ำหนักได้เพียงแค่กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องกินผักหรือผลไม้ร่วมด้วย บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ Carnivore Diet ให้มากขึ้น
รูปแบบการกิน Carnivore Diet มีข้อจำกัดที่จะกินเฉพาะเนื้อสัตว์ ปลา และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างไข่ นมและผลิตภัณฑ์นมเท่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่า คนสมัยก่อนมักกินเนื้อสัตว์ ปลา และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังสูงขึ้น
หลักการกิน Carnivore Diet
การกิน Carnivore Diet จะต่างจากอาหารอื่น ๆ อย่างการกินคีโตไดเอต (Ketogenic Diet) ที่จะจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต แต่อาหารประเภทนี้จะไม่มีคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารเลย อาทิ ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช เมล็ดพืช รวมถึงชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่ทำจากพืช ผัก และผลไม้ แต่จะเน้นรับประกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน รวมถึงน้ำเปล่าหรือน้ำซุปกระดูกเพื่อให้ได้รับพลังงานทดแทนในแต่ละวัน
โดยทั่วไป ผู้บริโภค Carnivore Diet สามารถกินอาหารได้บ่อยและมากเท่าที่ต้องการ เนื่องจากหลักการกิน Carnivore Diet ไม่ได้กำหนดปริมาณแคลอรี่ จำนวนหน่วยบริโภคหรือปริมาณอาหารที่ควรกินในแต่ละครั้ง จำนวนมื้ออาหาร หรือปริมาณของว่างที่เรากินในแต่ละวันเอาไว้
Carnivore Diet กับการลดน้ำหนัก
หลายคนอาจสงสัยว่า Carnivore Diet มีผลต่อการลดน้ำหนักอย่างไร จริง ๆ แล้ว การกินอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์จะทำให้ได้รับโปรตีนสูงในทุกมื้อ ซึ่งโปรตีนนี้เองอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้การลดน้ำหนักประสบความสำเร็จได้
โดยโปรตีนจะทำให้เราไม่หิวบ่อยและอยากอาหารลดลง ส่งผลให้ร่างกายได้รับแคลอรีน้อยลง อีกทั้งโปรตีนยังมีส่วนช่วยในระบบเผาผลาญ ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้ดียิ่งขึ้นด้วย การกินโปรตีนในปริมาณมากจึงอาจช่วยในการลดน้ำหนักได้
การกิน Carnivore Diet จะกินคาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายน้อยลง ทำให้ร่างกายดึงไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทน ทว่าผู้บริโภคอาจเข้าสู่ภาวะคีโตซิส (Ketosis) หรือภาวะที่ร่างกายเผาผลาญไขมันไปเป็นสารคีโตน (Ketones) ซึ่งจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต โดยในระหว่างนี้อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลง อยากอาหารน้อยลง ร่วมกับมีกลิ่นปาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรืออ่อนแรงได้
นอกเหนือจากการลดน้ำหนัก เชื่อกันว่า Carnivore Diet ยังให้ประโยชน์ต่อระดับน้ำตาลในเลือด สภาวะทางอารมณ์ หรือสุขภาพในด้านอื่น ๆ ด้วย แต่ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอจะรับรองคุณประโยชน์เหล่านี้ ผู้บริโภคจึงควรรอข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต
ความเสี่ยงของ Carnivore Diet
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อจำกัดหลัก ๆ ของรูปแบบการกิน Carnivore Diet ที่เน้นแค่เพียงเนื้อสัตว์คือ ร่างกายอาจได้รับสารอาหารไม่หลากหลาย ไม่เพียงพอ หรือได้รับสารอาหารบางชนิดมากจนเกินไป โดยผู้บริโภคอาจประสบปัญหาต่อไปนี้
ขาดใยอาหาร
ใยอาหารหรือไฟเบอร์เป็นสารอาหารที่พบได้มากในผักและผลไม้ โดยมีความสำคัญต่อระบบย่อยอาหารและลำไส้เป็นอย่างมาก อีกทั้งอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน
ผู้บริโภคที่กินแต่เนื้อสัตว์จึงอาจขาดสารอาหารประเภทนี้จนกระทบต่อระบบย่อยอาหารหรือลำไส้ และมีปัญหาท้องผูกตามมา ยิ่งไปกว่านั้น การรับประทานเนื้อแดงอาจไปเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานด้วย
ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
เนื้อสัตว์บางประเภทอาจมีไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ในปริมาณมาก โดยเฉพาะเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์อย่างเนยและชีส หากเรากินในปริมาณมากอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
โซเดียมสูง
ในกรณีที่รับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปอย่างเบคอนและแฮม อาหารเหล่านี้จะผ่านกระบวนการต่าง ๆ และมีการแต่งเติมรสชาติ ทำให้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ผู้บริโภคจึงอาจเสี่ยงต่อปัญหาความดันโลหิต โรคไต โรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อกินในปริมาณมากหรือติดต่อในระยะยาว
กรดยูริกในเลือดสูง
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภค Carnivore Diet อาจได้พบเจอ เนื่องจากเนื้อแดงและอาหารทะเลมีส่วนประกอบของสารพิวรีน (Purines) ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่จะก่อให้เกิดกรดยูริกขึ้นมาเมื่อถูกย่อยสลาย และหากมีปริมาณกรดยูริกสูงก็อาจเสี่ยงต่อโรคเก๊าท์ได้
นอกจากนี้ การกิน Carnivore Diet อาจไม่เหมาะกับบางคน เช่น ผู้ที่จำกัดกินโปรตีนอย่างผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ผู้ที่ต้องการสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน อย่างเด็ก ผู้ตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตร
สุดท้ายนี้ ผู้ที่สนใจใน Carnivore Diet ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการถึงข้อดีและข้อเสียก่อนเริ่มปรับรูปแบบการกินอาหารใด ๆ เพื่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยที่สุด