Clorazepate (คลอราซีเพท)

Clorazepate (คลอราซีเพท)

Clorazepate (คลอราซีเพท) เป็นยากดประสาทและยากล่อมประสาท ออกฤทธิ์โดยช่วยลดความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง นำมาใช้รักษาโรควิตกกังวล กลุ่มอาการเนื่องจากการขาดสุรา และโรคลมชัก นอกจากนี้ ยังอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

Clorazepate

ยา Clorazepate มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Clorazepate

กลุ่มยา ยากดประสาทและยากล่อมประสาท
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรควิตกกังวล รักษากลุ่มอาการเนื่องจากการขาดสุรา และโรคลมชัก
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนในการใช้ยา Clorazepate

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากเป็นโรคต้อหิน โรคซึมเศร้า หรือมีความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์หรือกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายทำงานช้าลง
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ใช้ยานี้
  • ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
  • หลีกเลี่ยงการขับรถและทำกิจกรรมที่ต้องมีความตื่นตัวหรือการมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รบกวนการทำกิจกรรมดังกล่าว
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำ
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดยาได้
  • การใช้ยานี้ในระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา และหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้ไปพบแพทย์ทันที
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Clorazepate

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษากลุ่มอาการเนื่องจากการขาดสุราและโรคลมชัก
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 90 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
เด็กอายุ 9-12 ปี รับประทานยาปริมาณ 60 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน
ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อ่อนแอ ให้เริ่มใช้ยาจากปริมาณต่ำสุดและปรับเพิ่มปริมาณยาทีละน้อย

โรควิตกกังวล 
ผู้ใหญ่ รับประทานยาครั้งละ 7.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อ่อนแอ ให้เริ่มใช้ยาจากปริมาณยาต่ำสุดและปรับเพิ่มปริมาณยาทีละน้อย

การใช้ยา Clorazepate

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ แต่หากยาทำให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน ให้รับประทานพร้อมอาหาร
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในที่แห้ง ห่างจากแสงแดด และเก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Clorazepate

การใช้ยา Clorazepate อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ ง่วงซึม ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน ปากแห้ง เหนื่อยหรืออ่อนเพลีย ประหม่า เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Clorazepate ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวม แดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง มองเห็นไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน
  • มีปัญหาในการทรงตัว
  • มีอาการสั่นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • พูดไม่ชัด
  • สับสน รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะน้อยลง
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรงหรือหมดสติ
  • นอนไม่หลับ
  • อาการชักแย่ลงหรืออาการเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเริ่มใช้ยา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เสี่ยงมีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายสูง โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีความคิดหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตายมาก่อน ดังนั้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า ประหม่า กระสับกระส่าย ตื่นกลัว หรือมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติ ให้พาไปพบแพทย์ทันที และหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน