Colostrum น้ำนมแรกจากอกแม่สู่ลูกน้อย

Colostrum (โคลอสตรุ้ม) หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ น้ำนมเหลือง เป็นของเหลวสีเหลืองอ่อนที่ร่างกายของคุณแม่จะหลั่งออกมาในช่วงประมาณ 1-3 วันหลังคลอด โดยมีความเชื่อกันว่าโคลอสตรุ้มนั้นมีสารอาหารสูงกว่านมทั่วไป ซึ่งร่างกายของคุณแม่จะผลิตออกมาในช่วงหลังคลอดไม่กี่ีวันและเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

โคลอสตรุ้มเป็นระยะแรกสุดของกระบวนการสร้างน้ำนม ก่อนจะเข้าสู่ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transition Milk) และเป็นน้ำนมแม่ปกติ (Mature Milk) ในที่สุด แต่บางคนอาจเข้าใจว่าโคลอสตรุ้มเป็นอาหารเสริม แต่แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นโคลอสตรุ้มจากวัว (Bovine Colostrum) ที่ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด โดยในบทความนี้จะพูดถึงโคลอสตรุ้มธรรมชาติที่มาจากร่างกายคุณแม่เพื่อเป็นอาหารของทารกน้อย

Colostrum

Colostrum กับน้ำนมปกติแตกต่างกันอย่างไร ?

โคลอสตรุ้มเป็นน้ำนมที่มีโปรตีนสูงกว่าน้ำนมปกติ แต่มีน้ำตาล แคลเซียม และโพแทสเซียมที่ต่ำกว่า อีกทั้งโคลอสตรุ้มยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว สารภูมิคุ้มกันอย่างอิมมูโนโกลบูลินเอ (Immunoglobulin A: IgA) แลคโตเฟอริน (Lactoferrin) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม น้ำนมแม่หรือน้ำนมในระยะปกติก็อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีสัดส่วนที่ต่างออกไป

Colostrum กับประโยชน์เพื่อลูกน้อย

โคลอสตรุ้มนั้นมีสารอาหารหลายชนิดอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน โซเดียม ไขมัน รวมไปถึงวิตามินต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับลูกน้อย การป้อนโคลอสตรุ้มให้กับเจ้าตัวเล็กจึงอาจช่วยเสริมสร้างร่างกายของทารกให้แข็งแรงขึ้นในหลายด้าน เช่น

สร้างภูมิคุ้มกัน

เด็กแรกเกิดอาจมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งหากเจอกับเชื้อโรคก็อาจทำให้ไม่สบายหรือป่วยได้ โดยใน Colostrum นั้นมีสารอาหารที่ช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรงขึ้น อย่างอิมมูโนโกลบูลินเอ แลคโตเฟอริน รวมไปถึงโปรชนิดต่าง ๆ ดังนั้น การให้ทารกบริโภคโคลอสตรุ้มก็อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงได้

ช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

Colostrum และน้ำนมแม่นั้นย่อยง่าย มีส่วนช่วยเคลือบและปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหารจากเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตราย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ นอกจากนี้ Colostrum ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายขี้เทา (Meconium) หรืออุจจาระแรกของทารก ซึ่งสามารถช่วยป้องกันอาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้อีกทางหนึ่งด้วย 

การเก็บ Colostrum จำเป็นหรือไม่

ร่างกายของคุณแม่อาจผลิตโคลอสตรุ้มขณะอายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่แล้วหากคุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงดีไม่จำเป็นต้องเก็บโคลอสตรุ้มไว้ แต่แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่เก็บสำรองโคลอสตรุ้มไว้ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคเบาหวานก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ ใช้ยาลดความดัน เคยผ่านการศัลยกรรมหน้าอก ทารกมีโรคแต่กำเนิดอย่างโรคหัวใจหรือดาวน์ซินโดรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ทารกแฝดสองหรือแฝดสาม คุณแม่ก็อาจสำรอง Colostrum ไว้ได้เช่นกัน เนื่องจากทารกแฝดมักมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักหลังคลอดต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ก่อนเก็บ Colostrum ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากแพทย์ไม่แนะนำให้ผู้ที่เคยคลอดก่อนกำหนดหรือมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดเก็บสำรองไว้ล่วงหน้า

ขั้นตอนการเก็บ Colostrum

หากมีความจำเป็น คุณแม่สามารถเก็บ Colostrum ได้ด้วยการใช้มือบีบตามขั้นตอน ดังนี้

  • การเตรียมอุปกรณ์

    คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดก่อนการเก็บโคลอสตรุ้ม จากนั้นเตรียมภาชนะสำหรับรองของเหลว ไซริงค์หรือกระบอกฉีดยาสำหรับใช้เก็บน้ำนมเหลือง และซองพลาสติกที่มีซิปล็อก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ควรปลอดเชื้อหรือผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการปนเปื้อน จากนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านมหรือนวดเต้านมเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลง่ายขึ้น

  • วิธีเก็บโคลอสตรุ้ม

    ใช้นิ้วโป้งและนิ้วก้อยบีบบริเวณรอบฐานหัวนมในลักษณะเป็นรูปตัวซี ค่อย ๆ บีบและปล่อยจนมีของเหลวไหลออกมา จากนั้นใช้ภาชนะที่เตรียมไว้มารองน้ำนม หากโคลอสตรุ้มยังไม่ไหลออกมาเอง คุณแม่อาจปรับตำแหน่งการบีบไปเรื่อย ๆ แต่หากเริ่มไหลช้าหรือหยุดไหล ให้เปลี่ยนตำแหน่งในการบีบและทำซ้ำไปเรื่อย ๆ

  • ในระหว่างการเก็บ Colostrum อาจซึมออกมาบริเวณหัวนมและทำให้น้ำนมไหลช้าลง คุณแม่อาจจะใช้ไซริงค์สูบหยดโคลอสตรุ้มออก หลังจากบีบจนหมดเต้าแล้ว ให้ใส่กระบอกเก็บโคลอสตรุ้มไว้ในถุงพลาสติกที่มีซิปล็อก เขียนวันที่เก็บให้ชัดเจนและนำไปแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง

ทั้งนี้ กระบอกฉีดยาที่ใช้เก็บ Colostrum ควรใช้แบบวันต่อวัน ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ หากต้องการใช้โคลอสตรุ้ม ให้นำถุงใส่ไซริงค์ออกมาพักไว้ในอุณหภูมิห้องหรือแช่น้ำอุ่นเล็กน้อย โดยทั่วไปการเก็บ Colostrum อาจทำได้ถึงวันละ 3 ครั้ง หากรู้สึกเจ็บเต้านม ไม่ควรทำการเก็บโคลอสตรุ้ม อย่างไรก็ตาม หากลองเก็บโคลอสตรุ้มก่อนคลอดแล้วไม่สามารถเก็บได้หรือว่าไม่ได้เก็บโคลอสตรุ้มก่อนคลอด คุณแม่อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป เพราะปกติโคลอสตรุ้มจะออกมาในช่วงหลังคลอด ซึ่งทารกส่วนใหญ่ก็มักจะได้รับโคลอสตรุ้มในช่วงเวลานี้อยู่แล้ว 

สุดท้ายนี้ แม้ว่า Colostrum จะมีสารอาหารบางอย่างสูงกว่านมทั่วไป แต่ไม่ควรนำโคลอสตรุ้มจากวัวที่เป็นอาหารเสริมหรือโคลอสตรุ้มจากคุณแม่คนอื่นมาให้ทารกรับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ หากมีความกังวลว่าลูกจะมีสุขภาพไม่แข็งแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม