Colposcopy ขั้นตอนตรวจปากมดลูกเพื่อสุขภาพคุณผู้หญิง

Colposcopy (คอลโปสโคปี) เป็นการตรวจเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง วิธีนี้ถือเป็นการตรวจภายในรูปแบบหนึ่ง โดยใช้กล้องสำหรับส่องเพื่อหาความผิดปกติหรือร่องรอยของโรคบริเวณปากมดลูก เช่น โรคมะเร็ง โรคเอชพีวี หรือหูดหงอนไก่ เป็นต้น 

กล้องคอลโปสโคป (Colpocscope) เป็นอุปกรณ์หลักในการตรวจด้วยวิธีนี้ โดยกล้องคอลโปสโคปมีลักษณะเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มีไฟติดกับตัวกล้องเพื่อให้ความสว่าง โดยแพทย์จะใช้กล้องร่วมกับน้ำยาสำหรับการทดสอบ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สังเกตเห็นความผิดปกติบริเวณปากมดลูก ปากช่องคลอด ภายในช่องคลอด หรือทวารหนักได้ชัดเจน ในกรณีที่พบความผิดปกติ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติม

Colposcopy

Colposcopy ใช้ตรวจตอนไหน ?

การส่องกล้องเพื่อตรวจเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกจะทำเมื่อพบความผิดปกติจากผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปบสเมียร์ (Pap Smear) และผลจากการตรวจภายในรูปแบบอื่นที่พบร่องรอยของโรคบริเวณปากมดลูก อย่างหูดหงอนไก่หรือโรคเอชพีวี 

นอกจากนี้ Colposcopy ยังใช้หาสาเหตุของอาการเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศโดยไม่ทราบสาเหตุ และใช้ในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยโรคมะเร็งที่อาจพบได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด

Colposcopy มีวิธีการอย่างไร ?

เมื่อถึงกำหนดการตรวจ แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ จากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเตียงสำหรับการตรวจภายในโดยเฉพาะหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าการขึ้นขาหยั่ง 

ขั้นตอนตรวจจะเริ่มจากแพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) สอดเข้าภายในช่องคลอดเพื่อให้ช่องคลอดเปิดค้างไว้และสะดวกต่อการตรวจ ต่อไปแพทย์จะทำความสะอาดและใช้สารที่มีลักษณะเป็นของเหลวชนิดพิเศษทาลงบริเวณปากมดลูก โดยสารเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกแสบเล็กน้อย หลังจากนั้นจะใช้กล้องคอลโปสโคปส่องหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก

หากแพทย์พบหรือคาดว่ามีความผิดปกติหลังจากส่องกล้อง แพทย์อาจทำการถ่ายภาพและตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากบริเวณที่มีความผิดปกติรุนแรงที่สุด (Targeting Biopsies) เพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ บางกรณีแพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาหรือเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายและหญิงตั้งครรภ์อาจไม่จำเป็นต้องเก็บชิ้นเนื้อโดยจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับขั้นตอนการตรวจทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที

ผลการตรวจชิ้นเนื้ออาจใช้เวลาในการวิเคราะห์ 4-8 สัปดาห์ หากผลการตรวจออกมาว่าพบเซลล์ที่ผิดปกติหรือเป็นโรค แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจจะออกมาว่าเซลล์นั้นผิดปกติ แต่ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคมะเร็งในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุน้อยที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากทิ้งไว้และไม่เข้ารับการรักษา เซลล์เหล่านี้อาจกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อได้รับการแจ้งผลแล้วพบว่าตนเองมีเซลล์ชนิดดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ Colposcopy

เพื่อความแม่นยำสูงสุดในการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัวด้วยการงดมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด งดการสวนล้างช่องคลอด และงดการใช้ยาทา ยาสอด หรือเจลหล่อลื่นบริเวณอวัยวะเพศ 1-2 วันก่อนการตรวจ และหากมีประจำเดือน ควรโทรแจ้งโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนการตรวจออกไป

การตรวจภายในครั้งแรกอาจสร้างความกังวลให้กับผู้เข้ารับการตรวจได้ ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรหาวิธีที่จะช่วยลดความกังวล อย่างการปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า การฟังเพลง หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลายก่อนเข้าห้องตรวจ

นอกจากนี้ ควรเตรียมผ้าอนามัยสำรอง เพราะการตรวจอาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยหรือทำให้มีตกขาวได้ และภายหลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีอาการปวดบริเวณที่ตรวจ การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) อย่างไอบรูโพเฟน หรือยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลก่อนเข้ารับการตรวจก็อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดที่เกิดขึ้นได้

ความเสี่ยงและการปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการตรวจ Colposcopy

ผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่การตรวจอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการปวดบริเวณปากมดลูก ตกขาวสีเข้มขึ้น เกิดบาดแผลและมีเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศเล็กน้อย ซึ่งแผลภายในช่องคลอดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดูแลรักษาความสะอาดของแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแผล งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ยาทา ยาสอด เจลหล่อลื่น และการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างน้อย 2 วันไปจนถึง 1-2 สัปดาห์หลังการตรวจ เพราะอาจสร้างความเจ็บปวดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนอาการปวดอาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือยาแก้ปวด นอกจากนี้ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างมีไข้ มีอาการหนาวสั่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ตกขาวสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดไหลมากกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที