CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) คือปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ เป็นการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแบบหนึ่ง มีประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหยุดหายใจกะทันหันหรือหัวใจหยุดทำงาน เช่น หัวใจวาย จมน้ำ หรือขาดออกซิเจนนาน ซึ่งเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองอย่างถาวรภายใน 4 นาที และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลา 8-10 นาที
การปั๊มหัวใจจึงอาจช่วยยื้อเวลาและช่วยฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดกะทันหัน ทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ตามปกติ มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ อีกครั้ง จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์
การปั๊มหัวใจสำคัญเช่นไร ?
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ใหญ่ และมักทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันขณะที่อยู่นอกโรงพยาบาล การปั๊มหัวใจอย่างถูกต้องจึงจำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้น
การทำ CPR ทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้นได้มากถึง 2-4 เท่า สำหรับผู้ช่วยเหลือที่เคยผ่านการฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพมาก่อน หรือมีทักษะพร้อมประสบการณ์ให้ปั๊มหัวใจควบคู่ไปกับการผายปอด ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ให้แนะนำวิธีปั๊มหัวใจผู้ป่วยอย่างถูกต้องเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องผายปอด จนกว่าผู้เชี่ยวชาญจะมาถึงที่เกิดเหตุ
ในกรณีที่บริเวณเกิดเหตุมีเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ผู้ช่วยเหลือสามารถปฏิบัติการกู้ชีพร่วมกับการกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้าได้ ทั้งนี้การกู้ชีพที่รวดเร็วภายใน 3-5 นาทีหลังจากที่ผู้ป่วยเกิดอาการ ควบคู่กับการดูแลผู้ป่วยที่ชีพจรฟื้นคืนกลับมาอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดความล่าช้าโอกาสรอดชีวิตอาจลดลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ต่อ 1 นาที
อุปกรณ์ในการปั๊มหัวใจ
ผู้ช่วยเหลือสามารถปั๊มหัวใจแบบพื้นฐานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ใด ๆ แต่ควรสวมหน้ากาก เสื้อคลุม หรือถุงมือกันเชื้อโรค แม้จะยังไม่เคยมีรายงานว่าการปั๊มหัวใจจะทำให้เกิดการติดต่อของโรคจากผู้ป่วยสู่ผู้ให้ความช่วยเหลือก็ตาม
ควรทำอย่างไรก่อนการปั๊มหัวใจ
ก่อนการปั๊มหัวใจควรสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่และสภาพแวดล้อม หรือการสังเกตว่าผู้ป่วยมีสติอยู่หรือกำลังหมดสติ ซึ่งหากผู้ป่วยกำลังหมดสติให้ลองจับตัวหรือเขย่าที่หัวไหล่หรือพูดถามเสียงดัง ๆ ด้วยประโยคง่าย ๆ ว่า “คุณ ๆ ตื่น ๆ เป็นอะไรหรือเปล่า”
หากยังไม่มีการโต้ตอบกลับมา ให้รีบเรียกขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ควรมีผู้ช่วยมากกว่า 1 คน เพื่อจะได้ช่วยโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการฉุกเฉินเช่นโทร 191 หรือโทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินที่ 1669 ก่อนเริ่มปั๊มหัวใจ
สำหรับในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นจากการจมน้ำ ให้เริ่มปั๊มหัวใจก่อนแล้วค่อยติดต่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการฉุกเฉิน
วิธีการปั๊มหัวใจ
การปั๊มหัวใจสำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่
ขั้นตอนการปั๊มหัวใจสำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ มีดังนี้
- ให้ผู้ช่วยเหลือจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัวเสียก่อน ห้ามใช้หมอนหนุนศีรษะผู้ป่วยเด็ดขาด จากนั้นให้ผู้ช่วยเหลือคุกเข่านั่งแล้วใช้นิ้วคลำหาส่วนปลายของกระดูกหน้าอก (Sternum) ซึ่งอยู่ในบริเวณที่กระดูกซี่โครงบรรจบกัน
- เมื่อหากระดูกหน้าอกของผู้ป่วยพบแล้ว ให้วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้ส้นมือข้างที่ถนัดวางทับลงไปประสานกันไว้
- ผู้ช่วยเหลือเริ่มด้วยการกดหน้าอก โดยให้ยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสอง ลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5-2 นิ้ว ในแนวดิ่ง โดยปั๊มในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที (1-2 ครั้งต่อวินาที) ให้ปั๊มหัวใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะเดินทางมาถึง
การปั๊มหัวใจสำหรับผู้ป่วยเด็กและทารก
ขั้นตอนการปั๊มหัวใจสำหรับผู้ป่วยเด็ก มีดังนี้
- ให้ผู้ช่วยเหลือจัดท่าให้เด็กนอนหงาย สำหรับทารกระวังอย่าดันศีรษะไปข้างหลังมากเกินไป หากสังเกตเห็นว่าทารกมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะให้ขยับผู้ป่วยไปทั้งตัวในคราวเดียว
- การปั๊มหัวใจให้ทารก ทำได้โดยวางนิ้วชี้หรือนิ้วกลางลงบนกระดูกหน้าอก โดยสามารถวางมืออีกข้างทับเพื่อช่วยออกแรงได้ ในการปั๊มหัวใจให้กดลงไป 1 นิ้วครึ่ง ซึ่งจะอยู่ที่ระหว่าง 1 ใน 3 ของความลึกหน้าอก พึงระวังไว้ว่าห้ามปั๊มที่ส่วนปลายสุดของกระดูกหน้าอกโดยเด็ดขาด
- การปั๊มหัวใจให้เด็กเล็ก ทำได้ด้วยการวางมือลงที่กลางหน้าอกผู้ป่วยระหว่างหัวนม โดยวางมืออีกข้างซ้อนทับได้ ในการปั๊มหัวใจให้กดลงเป็นระยะประมาณ 2 นิ้ว โดยพึงระวังว่าห้ามกดที่บริเวณกระดูกซี่โครง เนื่องจากเป็นส่วนที่หักง่าย
- ให้ปั๊มหัวใจ 30 ครั้งในอัตราความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที โดยปล่อยให้หน้าอกยกขึ้นก่อนค่อยปั๊มใหม่ในแต่ละครั้ง หลังจากนั้นให้สังเกตว่าผู้ป่วยเริ่มกลับมาหายใจแล้วหรือไม่ และจึงปั๊มหัวใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะเดินทางมาถึง
การปั๊มหัวใจร่วมกับใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
ในกรณีที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ในบริเวณเกิดเหตุ ผู้ช่วยเหลือสามารถนำมาใช้ร่วมกับการปั๊มหัวใจ โดยปฏิบัติดังนี้
- ให้ผู้ช่วยเหลือเปิดเครื่อง แล้วจึงถอดเสื้อผู้ป่วยออก จากนั้นติดแผ่นนำไฟฟ้าที่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาและชายโครงด้านซ้าย ทั้งนี้ตำแหน่งที่ติดแผ่นนำไฟฟ้าสามารถดูได้จากเครื่องมือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง ถ้าเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้าจึงให้ผู้ช่วยเหลือกดปุ่มช็อก และรปั๊มหัวใจหลังทำการช็อกทันที หากเครื่องไม่สั่งช็อกให้ปั๊มหัวใจต่อไปเรื่อย ๆ
- ให้ผู้ช่วยเหลือปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่อง ทำ CPR และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
ภาวะแทรกซ้อนจากการปั๊มหัวใจ
การปั๊มหัวใจอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือ กระดูกซี่โครงหรือกระดูกสันอกแตกหักจากการปั๊มหัวใจ แต่เป็นกรณีที่พบได้ยาก
สถานที่สอนวิธีการปั๊มหัวใจอย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยที่สนใจการปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจ เข้าเรียนหลักสูตรการอบรมพิเศษได้จาก
- ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัยสภากาชาดไทย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4041-2 กด 2
- สำนักงานมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-716-6658 หรือ 02-716-6843
- ศูนย์โรคหัวใจสิรินธร โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-763-3976 หรือ 090-018-8767