รู้จักไซยาไนด์ สารพิษอันตราย และวิธีการรับมือ

ไซยาไนด์ (Cyanide) ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีความอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยหากสารนี้เข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วในการยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การใช้ไซยาไนด์จึงถูกจำกัดอยู่แค่ในวงการการแพทย์หรือในวงการอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในเรื่องทั่วไปได้

ไซยาไนด์สามารถพบในพืชบางชนิด เช่น อัลมอนด์ หรือแอปเปิ้ล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายของมนุษย์ด้วย ไซยาไนด์มักถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก จึงสามารถพบการปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยที่พบในพืชหรือกระบวนการเผาผลาญของมนุษย์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ไซยาไนด์

ทำความรู้จักไซยาไนด์ในรูปแบบต่าง ๆ 

ไซยาไนด์มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium Cyanide: NaCN)

โซเดียมไซยาไนด์มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปของผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และใช้เป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง โซเดียมไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม และหากรับประทานอาจเป็นพิษถึงแก่ชีวิตได้

2. โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide: KCN)

โพแทสเซียมไซยาไนด์มีลักษณะเป็นก้อนผลึก ผงสีขาว หรือเมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อโพแทสเซียมไซยาไนด์เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

3. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide: HCN)

ไฮโดรเจนไซยาไนด์มีลักษณะเป็นของเหลวหรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตาด้วย

4. ไซยาโนเจนคลอไรด์ (Cyanogen chloride: CNCl)

ไซยาโนเจนคลอไรด์มีลักษณะเป็นของเหลวหรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ จึงอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเมื่อสูดดมได้

อันตรายจากไซยาไนด์ที่ควรระวัง

ไซยาไนด์สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี โดยอาจเข้าสู่ร่างกายอย่างฉับพลันหรืออาจเกิดการสะสมต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งความรุนแรงของอาการนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของไซยาไนด์ ปริมาณของไซยาไนด์ และระยะเวลาที่ร่างกายได้รับไซยาไนด์ 

ผู้ที่ได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการภายในเวลาไม่กี่วินาทีหรือภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับสาร โดยมักจะปรากฎอาการดังนี้

  • รู้สึกระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสไซยาไนด์ เช่น ผิวหนังหรือดวงตา 
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • ง่วงซึม ร่างกายอ่อนแรง 
  • รูม่านตาขยาย หายใจติดขัด ตัวเย็น
  • ระบบไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ
  • ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง
  • มีอาการชัก หมดสติ หรือโคม่า 
  • หัวใจเต้นช้า และหัวใจหยุดเต้น 

วิธีการรับมือเมื่อสัมผัสกับไซยาไนด์

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือเมื่อสัมผัสกับไซยาไนด์สามารถทำได้ ดังนี้

การสัมผัสทางผิวหนัง

หากร่างกายสัมผัสกับไซยาไนด์ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว เพราะจะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจากไซยาไนด์ไปด้วย จากนั้นให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

การสัมผัสทางการสูดดม

หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนควรรีบออกจากพื้นที่ หรือก้มต่ำลงบนพื้นหากไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษ 

การสัมผัสทางดวงตา

หากดวงตาสัมผัสกับไซยาไนด์ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจจากแพทย์

การสัมผัสทางการรับประทาน

หากได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายจากการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ควรกระตุ้นให้เกิดการอาเจียน แต่ควรรีบล้างปากด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมาก และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที 

ทั้งนี้ สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อนไซยาไนด์อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ ส่วนคอนแทคเลนส์และเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ

วิธีการป้องกันการสัมผัสกับไซยาไนด์

เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดโอกาสในการสัมผัสกับไซยาไนด์ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ 
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ควรติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์อาจมีการปนเปื้อนในรูปแบบของควันได้
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด เพราะอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสในการสัมผัสและการสูดดมสารพิษด้วย
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนไซยาไนด์ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของไซยาไนด์
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงในการได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก รวมถึงผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายเกิดขึ้น ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามขั้นตอนอย่างเหมาะสมและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพราะการได้รับไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการร้ายแรงและส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้