ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG/ECG

EKG/ECG เป็นคำย่อของคำว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram หรือ Electrocardiogram) หมายถึงการทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาและส่งผ่านไปทั่วทั้งหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวอย่างสมบูรณ์ในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะเรียกสัญญาณไฟฟ้านี้ว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ekg_ecg

EKG/ECG ใช้ตรวจในกรณีใด ?

EKG/ECG หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยแพทย์วินิจฉัยความผิดปกติและโรคเกี่ยวกับหัวใจได้หลายกรณี

  • เช็คอัตราการเต้นของหัวใจว่ามีจังหวะการเต้นที่เร็วหรือช้าผิดปกติ หรือมีความสม่ำเสมอหรือไม่
  • ค้นหาต้นตอของอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือเกิดจากภาวะอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (เนื้อเยื่อบาง ๆ ที่คลุมรอบหัวใจ) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ตรวจหาโรคหัวใจในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเบื้องต้น เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย หายใจสั้นหรือหายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ หน้ามืด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ตรวจผนังกั้นห้องหัวใจว่าหนาเกินไปหรือไม่
  • ดูประสิทธิภาพของการใช้ยาและผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อการทำงานของหัวใจ
  • ตรวจดูการทำงานของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยการทำงานของหัวใจว่าเป็นปกติดีหรือไม่ เช่น เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemakers)
  • ตรวจเช็คสุขภาพหัวใจในผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเอื้อต่อการเกิดโรคทางด้านหัวใจ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันสูง คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

ข้อห้ามในการตรวจ EKG/ECG

ทุกเพศทุกวัยสามารถตรวจได้ ไม่มีข้อห้ามในการตรวจ เพราะเป็นการตรวจที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด อันตราย หรือส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย

ขั้นตอนในการตรวจEKG/ECG

การตรวจสามารถทำได้ที่โรงพยาบาล คลินิก หรือหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายลงบนเตียงและทำตัวผ่อนคลาย หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ พยาบาล หรือแพทย์
  • จากนั้นจะมีการติดตัวรับกระแสไฟฟ้าจากการเต้นของหัวใจตามแขน ขา และหน้าอกประมาณ 10 จุด อาจมีการเช็ดทำความสะอาดหากผิวหนังสกปรกหรือโกนขนตามจุดที่มีการติดตัวรับกระแสไฟฟ้าในกรณีที่ติดตัวรับกระแสไฟฟ้าไม่อยู่
  • ทาครีมหรือเจลที่ใช้เป็นตัวหล่อลื่นในการติดตัวรับกระแสไฟฟ้า
  • ในระหว่างการตรวจควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว พูดคุย หรือขยับมากเกินไป ไม่เกร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะอาจส่งผลให้เกิดความคาดเคลื่อนของผลตรวจขึ้นได้ เจ้าหน้าที่อาจขอให้ผู้เข้ารับการตรวจหายใจให้เป็นปกติหรือกลั้นหายใจชั่วครู่
  • ผลการวัดจะแสดงออกมาที่หน้าจอและพิมพ์ออกมาลงบนกระดาษเฉพาะ
  • หลังจากนั้นจะถอดอุปกรณ์ทั้งหมดออก เช็ดทำความสะอาดเจลหรือครีมที่ยังติดอยู่บนผิวหนัง

ในกรณีที่หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอหรือไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการทำงานของหัวใจเป็นปกติหรือไม่ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจ EKG/ECG ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring/Event Recorder) เป็นการบันทึกการทำงานของหัวใจตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง สามารถทำได้ทั้งในโรงพยาบาลหรือที่บ้านด้วยเครื่องบันทึกการทำงานของหัวใจที่มีขนาดเล็กและพกพาได้ง่าย โดยตัวเครื่องจะเชื่อมต่อกับแผ่นรับกระแสไฟฟ้าที่แปะอยู่บริเวณหน้าอกผู้ป่วยเพื่อบันทึกการทำงานของหัวใจ ขณะเดียวกันผู้ป่วยจะต้องมีการบันทึกอาการผิดปกติที่พบในช่วงเวลานั้นด้วย เมื่อครบกำหนดเวลาจึงนำเครื่องกลับมาส่งคืนให้แพทย์พร้อมกับแจ้งอาการที่พบ เพื่อการวินิจฉัยผล
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) เป็นการตรวจดูการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานหรือขี่จักรยานออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ พร้อมกับต่ออุปกรณ์วัดการทำงานของคลื่นหัวใจ เมื่อร่างกายออกกำลังกายจะทำให้เลือดมีการสูบฉีดมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขณะเข้ารับการตรวจจะทำให้ผู้เข้ารับการทดสอบเกิดอาการแน่นหน้าอก และมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งการทดสอบนี้ควรอยู่ใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ EKG/ECG

ก่อนการตรวจไม่จำเป็นต้องมีการอดน้ำและอาหาร แต่ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเตรียมตัวเป็นพิเศษกว่าคนปกติหากมีสภาวะผิดปกติบางอย่างของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ในขณะนั้น การใช้เครื่องมือช่วยการทำงานของหัวใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนการตรวจ เพราะอาจส่งผลต่อผลการตรวจที่ออกมาได้

การดูแลและติดตามผลหลังการตรวจ EKG/ECG

โดยทั่วไปแพทย์สามารถแจ้งผลได้ภายในวันเดียวกันกับการตรวจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล หน่วยงานทางการแพทย์ หรือคลีนิคแต่ละแห่ง แพทย์ผู้อ่านผลอาจจะเป็นแพทย์ในหลากหลายสาขาที่ผู้ป่วยไปพบ เช่น อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด วิสัญญีแพทย์ หรือศัลยแพทย์

ผลที่ออกมาจะแสดงให้เห็นเป็นภาพกราฟการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะดูจังหวะการเต้นของหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจ ประเมินรวมกับอาการของผู้ป่วยที่พบ ประวัติการป่วย และการตรวจร่างกายเบื้องต้น หากผลการตรวจออกมาพบว่าเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล แต่หากผลตรวจพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของหัวใจ แพทย์มักพิจารณาให้มีการตรวจซ้ำ ตรวจ EKG/ECG ด้วยวิธีอื่น หรือการตรวจพิเศษอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการหรือความผิดปกติของแต่ละบุคคล

ผลข้างเคียงของการตรวจ EKG/ECG

การตรวจ EKG/ECG เป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่มีอันตรายในการตรวจ แต่ในขณะการตรวจอาจทำให้เกิดความอึดอัดเล็กน้อยเมื่อติดตัวรับกระแสไฟฟ้า ในบางรายอาจมีอาการบวมแดงหรือผื่นขึ้นหลังการถอดอุปกรณ์ออก ซึ่งมักพบได้น้อยและจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน  

ข้อจำกัดในการตรวจ EKG/ECG

การตรวจ EKG/ECG จะพบความผิดปกติได้เฉพาะเมื่อมีอาการในขณะตรวจเท่านั้น จึงอาจทำให้ผลออกมาเป็นปกติหากผู้ป่วยไม่มีอาการตอนตรวจ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ จากโรคหลอดเลือดหัวใจที่ยังตรวจไม่พบอาจได้ผลตรวจออกมาเป็นปกติ เนื่องจากตอนตรวจไม่มีอาการ ดังนั้นอาจต้องมีการตรวจซ้ำหลายครั้งหรือมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีพิเศษอื่น เช่น การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง