ELISA วิธีการตรวจหาโรคติดเชื้อ

ELISA (Enzyme-linked Immunosorbent Assay) หรือ อีไลซา เป็นขั้นตอนการตรวจเลือดที่ใช้หาภาวะติดเชื้อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ซิก้า เชื้อเอชไอวี ไวรัสโรต้า หรือโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เป็นต้น

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจ ELISA เมื่อผู้ป่วยมีสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือต่อมน้ำเหลืองโต โดยแพทย์จะดูอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายว่าเข้าเกณฑ์ของโรคใด ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อแบบ ELISA นั้นค่อนข้างแม่นยำ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงที่ควรทราบก่อนเข้ารับการตรวจ

ELISA

ELISA ตรวจหาโรคอะไรได้บ้าง ?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ELISA นั้นใช้เพื่อตรวจหาภาวะติดเชื้อภายในร่างกาย ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา นอกจากเชื้อโรคเหล่านี้แล้ว ยังอาจนำไปใช้ตรวจฮอร์โมนและสารก่อภูมิแพ้ภายในเลือดได้ด้วย ซึ่งตัวอย่างโรคหรือเชื้อที่ใช้วิธี ELISA ในการตรวจ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด โรคไข้เลือดออก โรคโลหิตจาง โรคไลม์ เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสตับอักเสบ และโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด เป็นต้น

ก่อนตรวจ ELISA ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

ELISA เป็นวิธีการตรวจเลือดที่ใช้เวลาไม่นานและไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่หากมีประวัติการเจ็บป่วยหลังจากการเจาะเลือดครั้งก่อน ๆ อย่างมีรอยฟกช้ำ เคยเป็นลม หรือมีอาการเลือดไหลไม่หยุด ควรแจ้งแพทย์ก่อนการเจาะเลือดทุกครั้ง เพื่อแพทย์จะได้เตรียมพร้อมและวางแผนการรักษาในระหว่างการตรวจ นอกจากนี้ หากผลการตรวจออกมาเป็นบวก ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อจากโรคนั้น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง ก็อาจสร้างความกดดันและความเครียดให้กับผู้ป่วยได้

ELISA มีขั้นตอนอย่างไร ?

ในเบื้องต้น หากแพทย์ประเมินอาการและสันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจแบบอีไลซา ซึ่งขั้นตอนการตรวจมีดังนี้

การเก็บตัวอย่างเลือด

พยาบาลจะทำการรัดต้นแขนของผู้ป่วยด้วยสายยางหรือสายรัด เพื่อให้เส้นเลือดดูชัดขึ้น จากนั้นจะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดบริเวณตำแหน่งของเส้นเลือดที่จะเจาะ หลังเช็ดทำความสะอาดแล้วพยาบาลจะทำการแทงเข็มและเก็บตัวอย่างเลือดในปริมาณเล็กน้อย เมื่อถอนเข็มออกแพทย์จะแปะพลาสเตอร์หรือสำลีเพื่อปิดแผล

การตรวจหาเชื้อ

ตัวอย่างเลือดจะส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการตรวจโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ตรวจจะหยดเลือดลงไปในจานทดลองที่มีแอนติเจน (Antigen) หรือเชื้อแปลกปลอมชนิดที่แพทย์คาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์จะหยดเอนไซม์ลงไปในจานทดลอง เพื่อดูปฏิกิริยาของแอนติเจนและแอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิคุ้มกันภายในเลือด หากสารในจานทดลองมีการเปลี่ยนสี นั่นอาจหมายถึงมีการติดเชื้อชนิดดังกล่าว โดยขั้นตอนในการตรวจหาเชื้อมักใช้เวลาประมาณ 1 วัน แต่ในบางกรณีอาจใช้เวลาหลายวันจนถึงเป็นสัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของการส่งตรวจ

แม้ว่าการตรวจแบบอีไลซาหรือ ELISA จะเป็นการตรวจที่ง่ายและค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่จะผิดพลาดได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกเจ็บจากการโดนเข็มแทงหรือรู้สึกกลัว บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงหลังการตรวจ เช่น มีรอยฟกช้ำ เลือดออกผิดปกติ เป็นลม หรือแม้แต่เกิดการติดเชื้อ แต่การติดเชื้อจากการตรวจอีไลซานั้นพบได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ เวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม