Exposure Therapy คือจิตบำบัดสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิต ซึ่งมีหลักการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว เพื่อให้เกิดความเคยชินและรู้สึกกลัวลดลง ซึ่งเป็นวิธีบำบัดที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิตหลายโรค เช่น โรคกลัว (Phobias) โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) และโรคแพนิค (Panic Disorder)
Exposure Therapy จะจำลองสถานการณ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือพยายามหลีกเลี่ยง โดยมีเทคนิคและวิธีการต่างกันไปตามอาการและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งจะการบำบัดจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา
จุดประสงค์ของการรักษาด้วย Exposure Therapy
Exposure Therapy จัดเป็นการบำบัดจิตด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์จะจำลองสถานการณ์ให้ผู้ป่วยได้เจอกับสิ่งที่กลัว เช่น สัตว์ สิ่งของ กิจกรรม หรือเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดอาการกลัวฝังใจ
การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และต้องคอยเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอยู่ตลอดเวลา แต่การรักษาด้วย Exposure Therapy จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การปรับความคิดและความรู้สึกให้รู้สึกกลัวลดลง โดยให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่กลัวซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวข้ามความกลัว และไม่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอีก
Exposure Therapy เป็นวิธีที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชหลายโรค เช่น โรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobia) ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โรคแพนิค โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) และโรคย้ำคิดย้ำทำ
ประเภทของการรักษาด้วย Exposure Therapy
การรักษาด้วย Exposure Therapy แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. In Vivo Exposure
การรักษาวิธีนี้เป็นการบำบัดโดยให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวในสถานการณ์จริง เช่น การให้ผู้ป่วยเด็กที่กลัวการแยกจากผู้ปกครองลองอยู่ห่างจากผู้ปกครองตามเหตุการณ์จำลองต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของนักบำบัด และการได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง
2. Imaginal Exposure
เป็นการบำบัดโดยจินตนาการถึงสิ่งที่กลัว เช่น ให้ผู้ที่กลัวแมงมุมลองนึกถึงภาพแมงมุม หรือให้ผู้ป่วยโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงลองนึกถึงเหตุการณ์ฝังใจและเล่าให้นักบำบัดฟัง
3. Virtual Reality Exposure
เป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างสิ่งแวดล้อมเสมือน (Virtual Reality: VR) ในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธี In Vivo ได้ เช่น การให้ผู้ป่วยที่กลัวการเดินทางด้วยเครื่องบินลองใช้เครื่องจำลองการบิน (Flight Simulator) เพื่อให้ผู้ป่วยเผชิญสถานการณ์ที่รู้สึกกลัวได้สมจริงมากขึ้น
4. Interoceptive Exposure
เป็นวิธีที่ช่วยจัดการกับอาการทางร่างกายที่เกิดจากความกลัวและอาการแพนิค เช่น ตัวสั่น และหัวใจเต้นเร็ว โดย นักบำบัดอาจให้ผู้ป่วยวิ่งอยู่กับที่หรือกระโดด เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ว่าอาการที่เกิดจากความกลัวเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง
ขั้นตอนการรักษาด้วย Exposure Therapy
นักจิตบำบัดจะสอบถามอาการกลัวและวิตกกังวลของผู้ป่วย และจะให้คำแนะนำในการรักษา ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันตามสภาวะอาการของผู้ป่วย โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกกลัวน้อยไปหามาก เช่น ดูรูปภาพ ดูคลิปวิดีโอ และสัมผัสสิ่งที่กลัว หรือบางครั้งอาจเริ่มจากสิ่งที่รู้สึกกลัวมากและรับมือยากที่สุดก่อน ซึ่งนักจิตบำบัดจะทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวมากขึ้น
นอกจากนี้ นักบำบัดอาจฝึกการผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ป่วยควบคู่ไปกับการรักษา ให้แบบฝึกหัดผู้ป่วยฝึกเพิ่มเติมด้วยตัวเองที่บ้าน และสอนวิธีรับมือความกลัวและวิตกกังวลเมื่อเผชิญสถานการณ์จริง
ข้อควรรู้และความเสี่ยงของ Exposure Therapy
โดยทั่วไป การบำบัดโรคทางจิตเวชจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งระยะเวลาการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษากับนักบำบัด
ในบางกรณี การรักษาด้วย Exposure Therapy ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์ขึ้นมา อาจไม่ได้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป ผู้ป่วยบางคนจึงไม่ทราบวิธีจัดการกับสถานการณ์ที่พบและอาจทำให้อาการกำเริบขึ้นได้ จึงอาจต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นในการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่นานหรือหยุดการรักษาไปก่อนที่อาการจะดีขึ้น
สิ่งสำคัญคือ Exposure Therapy ควรทำภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัด จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น การรักษาโรคทางจิตเวชด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวด้วยตัวเองโดยไม่มีความรู้ในการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นและรักษาได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการตื่นตระหนก หวาดกลัวอย่างรุนแรง หรืออาการอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป