Grapefruit เป็นผลไม้ต่างถิ่นที่อาจคุ้นเคยกันดีในหมู่คนรักสุขภาพ แต่กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเพราะมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยลดน้ำหนัก เพิ่มกากใยอาหารให้แก่ร่างกาย หรือลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
ประโยชน์ต่อสุขภาพของ Grapefruit
Grapefruit (เกรปฟรุต) เป็นผลไม้เขตร้อนในตระกูลส้มที่เกิดจากการผสมระหว่างส้มโอและส้มเช้ง ทำให้ลักษณะดูคล้ายกัน มีรสชาติออกเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย และอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ และเส้นใยอาหาร อีกทั้งยังมีแคลอรี่น้อยและมีน้ำตาลต่ำ จึงเป็นผลไม้ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้ โดยมีงานค้นคว้าในด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
Grapefruit กับการลดน้ำหนัก
สาว ๆ หนุ่ม ๆ หรือคนที่ห่วงใยในรูปร่างอาจรู้จักผลไม้ชนิดนี้เป็นอย่างดี เพราะ Grapefruit ประกอบด้วยน้ำและเส้นใยอาหารอยู่มาก ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการลดน้ำหนักและการควบคุมอาหาร เพราะหากรับประทานในปริมาณเหมาะสมก็อาจช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ควบคุมความหิวได้ดี และยังมีแคลอรี่น้อย โดยผล Grapefruit ขนาดกลาง 1 ลูก ให้พลังงานเพียง 52 แคลอรี่เท่านั้น
มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลการรับประทาน Grapefruit พบว่าผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีระบบเผาผลาญอาหารผิดปกตินั้นมีน้ำหนักตัวลดลงหลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ จาก Grapefruit ก่อนอาหารแต่ละมื้อวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับประทานผลสดซึ่งมีน้ำหนักตัวลดลงมากที่สุด โดยลดลงประมาณ 1.6 กิโลกรัม ตามมาด้วยกลุ่มที่บริโภคน้ำ Grapefruit และผลิตภัณฑ์สารสกัดจาก Grapefruit
นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในอาสาสมัครชายหญิงที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานโดยให้ผู้ทดลองรับประทานผล Grapefruit ครึ่งลูกก่อนมื้ออาหารแต่ละมื้อวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าผู้ทดลองมีรอบเอวและสัดส่วนระหว่างเอวกับสะโพกลดลงเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง แต่อาจไม่เห็นผลแตกต่างชัดเจนในเรื่องของน้ำหนักตัวและสัดส่วนร่างกายเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน Grapefruit
แม้มีการค้นคว้ามากมาย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่อาจสรุปประสิทธิผลที่ชัดเจนของ Grapefruit ต่อการลดน้ำหนักตัวได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณแคลอรี่ของผลไม้ชนิดนี้ Grapefruit อาจเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งอาจเลือกรับประทาน Grapefruit แทนผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง โดยเพิ่มเข้าไปในมื้ออาหารแต่ละวันทีละน้อย ขณะเดียวกันก็ควรควบคุมอาหารที่รับประทานและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้สามารถลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Grapefruit กับสุขภาพหัวใจ
Grapefruit เป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของหัวใจอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะโพแทสเซียม โดยหลายคนเชื่อกันว่าการรับประทาน Grapefruit เป็นประจำอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
โดยงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองให้อาสาสมัครชายหญิงที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงและเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจรับประทานผล Grapefruit สีแดงหรือสีขาว เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานเป็นเวลาต่อเนื่อง 30 วัน โดยรับประทานควบคู่กับมื้ออาหารปกติ พบว่าอาสาสมัครที่รับประทาน Grapefruit มีระดับไขมันในเลือดลดลง ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับประทานกลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
นอกจากนี้ ยังพบว่า Grapefruit สีแดงช่วยลดระดับไขมันได้มากกว่าสีขาว โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งนักวิจัยคาดว่าเป็นผลมาจาก Grapefruit สีแดงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่านั่นเอง
Grapefruit กับโรคเบาหวาน
การรับประทาน Grapefruit อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่าการรับประทานอาหารประเภทแป้ง จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
จากงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับผลการรับประทาน Grapefruit ต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง โดยให้รับประทาน Grapefruit ในรูปแบบของผลสด น้ำคั้น และสารสกัด ก่อนมื้ออาหารประมาณครึ่งลูกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดพบว่าอาสาสมัครที่รับประทาน Grapefruit มีระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน โดยเฉพาะกลุ่มที่รับประทานผลสดของ Grapefruit ขณะเดียวกันงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิผลของการรับประทานผลไม้ต่อความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการรับประทานผลไม้ 200 กรัมต่อวัน ช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2
แม้ว่า Grapefruit จะดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดและสุขภาพโดยรวม แต่ก็ควรเลือกรับประทานผลสดของ Grapefruit เพราะน่าจะได้ประโยชน์ด้านโภชนาการสูงกว่ารูปแบบอื่น หากเป็นน้ำ Grapefruit ก็ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะต่อวัน โดยเลือกชนิดไม่เติมน้ำตาลหรือสารปรุงแต่งใด ๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีรับประทานอาหารที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย
ความปลอดภัยและข้อควรระวังในการรับประทาน Grapefruit
การรับประทาน Grapefruit จากอาหารหรือเครื่องดื่มในปริมาณปกตินั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่บุคคลบางกลุ่มควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน Grapefruit เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกหรือไม่
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ไม่ควรดื่มน้ำ Grapefruit ในปริมาณมากโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะมีรายงานระบุว่าการดื่มน้ำ Grapefruit ทุกวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้อีกมาก
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือมีภาวะที่ตอบสนองต่อฮอร์โมน ควรระวังในการรับประทาน Grapefruit เพราะอาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทาน Grapefruit เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาเป็นประจำ เพราะ Grapefruit ประกอบด้วยสารยับยั้งเอนไซม์ Cytochrome P450 ที่มีหน้าที่ย่อยสลายยา จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยากับยาบางกลุ่ม เช่น
- ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน
- ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาป้องกันปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะใหม่ในการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ยาลดความดันโลหิตในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ เช่น ยาไนเฟดิปีน เป็นต้น
- ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน เช่น ยาซิมวาสแตติน ยาอะทอร์วาสแตติน เป็นต้น
- ยากลุ่มคาร์บามาซีปีน
- ยาต้านไวรัสกลุ่มอินดินาเวียร์
- ยารักษาทางจิตเวช
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้เกิดผลข้างเคียงเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละคน ชนิดของยา และปริมาณในการรับประทาน Grapefruit ด้วย อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทาน Grapefruit หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทุกรูปแบบ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค