Hormone Replacement Therapy หรือการให้ฮอร์โมนทดแทน เป็นการบำบัดที่มักใช้รักษาหญิงที่อยู่ในช่วงวัยทอง เพื่อทดแทนฮอร์โมนเพศที่ร่างกายผลิตได้น้อยลงหรือหยุดผลิตเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยดังกล่าว โดยฮอร์โมนเพศนั้นเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อขาดไปหรือไม่เพียงพออาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้ นอกจากนี้ การให้ฮอร์โมนทดแทนอาจใช้ในผู้ที่ขาดฮอร์โมนเพศจากสาเหตุอื่นด้วย
อาการวัยทองมักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างอายุ 45-55 ปี โดยอาจสังเกตจากเปลี่ยนแปลง อย่างการขาดประจำเดือนติดต่อกัน 12 เดือน รวมถึงมีอาการอื่น ๆ เช่น อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย ร้อนวูบวาบ หรือช่องคลอดแห้ง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถสร้างความทุกข์ใจและรบกวนการใช้ชีวิตได้ไม่น้อย นอกจากนี้ ภาวะขาดฮอร์โมนเพศในผู้หญิงวัยทอง ยังเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพในระยะยาว อย่างโรคกระดูกพรุนได้ด้วย
เรื่องควรรู้ก่อนการใช้ Hormone Replacement Therapy
แม้ว่าฮอร์โมนทดแทนอาจเป็นวิธีบำบัดที่มีประโยชน์ในผู้ที่ขาดฮอร์โมนเพศอย่างมาก แต่อีกทางหนึ่งก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ ผู้ที่ต้องการเข้ารับฮอร์โมนทดแทนจึงควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
ใครที่ควรเข้ารับ Hormone Replacement Therapy
การเข้ารับฮอร์โมนบำบัดนั้นควรทำเมื่อรู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการขาดฮอร์โมน เช่น อาการของภาวะขาดฮอร์โมนเพศส่งผลต่อการใช้ชีวิต มีมวลกระดูกลดลงจนไม่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีอื่น มีประวัติการผ่าตัดเพื่อนำรังไข่ออกก่อนหมดประจำเดือน รวมไปถึงผู้ทีหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีประสบปัญหาเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์และพิจารณารับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน
ผลข้างเคียงของการรับ Hormone Replacement Therapy
ผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างไปตามชนิดและปริมาณฮอร์โมนที่ได้รับ โรคประจำตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง รวมไปถึงประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว โดยทั่วไปผลข้างเคียงอาจแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก
- ผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เจ็บเต้านม อารมณ์ไม่คงที่ บวมน้ำ สิวขึ้น ประจำเดือนกะปริบกะปรอย เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้นหรือเป็นอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์
- ผลข้างเคียงรุนแรง มักเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่าง ๆ อย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดเสมอง และโรคมะเร็งเต้านม
ผู้ที่ไม่ควรรับฮอร์โมนทดแทน
ผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วย การรักษา หรือมีโรคประจำตัวบางอย่างอาจไม่สามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ระยะเวลาในการใช้
สำหรับระยะเวลาและปริมาณในการใช้ฮอร์โมนทดแทนมักแตกต่างไปตามอาการและความรุนแรงของการขาดฮอร์โมน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนด แต่ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนในระยะเวลาที่สั้นที่สุดและปริมาณฮอร์โมนต่ำที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง
รูปแบบและประโยชน์ของ Hormone Replacement Therapy
การให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นให้ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดสังเคราะห์เพื่อทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตได้น้อยลง ซึ่งประกอบด้วยเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยมีรูปแบบและวิธีใช้ ดังนี้
ฮอร์โมนทดแทนแบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย
การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน เนื่องจากการใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) ได้ แต่กรณีที่เคยผ่าตัดมดลูกออกแล้ว แพทย์จะให้ใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว โดยรูปแบบฮอร์โมนแบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย มีทั้งยาเม็ด แผ่นแปะ เจล ครีม หรือแบบฝังใต้ผิวหนัง
การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกายในระยะสั้น จะช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง คันช่องคลอด แสบช่องคลอด หรือรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ สำหรับการใช้ในระยะยาวอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนร่วมกันอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ซึ่งการรับฮอร์โมนแบ่งได้ 2 แบบ คือ
- แบบรอบ มักใช้ในผู้ที่ยังมีประจำเดือนอยู่แต่มีอาการของวัยทอง โดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทุกวัน และเสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงหลังของรอบเดือน ซึ่งจะแบ่งเป็นรอบ 1 เดือน และ 3 เดือน
- แบบต่อเนื่อง มักใช้ในผู้ที่หมดประจำเดือนไปแล้ว 1 ปี โดยจะใช้ฮอร์โมนทดแทนทุกวันโดยไม่แบ่งรอบ
ฮอร์โมนทดแทนแบบเฉพาะจุด
Hormone Replacement Therapy แบบเฉพาะจุดมักใช้ทาหรือใส่อุปกรณ์ที่บรรจุฮอร์โมนไว้บริเวณช่องคลอดโดยตรง โดยประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณต่ำ ซึ่งจะออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณช่องคลอด โดยสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ สำหรับรูปแบบของฮอร์โมนทดแทนแบบเฉพาะจุด มีทั้งแบบเจล ครีม หรืออุปกรณ์สำหรับสอดในช่องคลอด แต่การใช้ฮอร์โมนแบบเฉพาะจุดจะไม่สามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หรือป้องกันโรคกระดูกพรุน
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อาจช่วยบรรเทาอาการจากการขาดฮอร์โมนเพศได้ อย่างงดเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ฝึกสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอ หางานอดิเรกทำ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอาการได้ดี เลือกผ้าห่มที่ไม่หนาเกินไปเพื่อป้องกันเหงื่อออกขณะนอนหลับ สำหรับอาการผิดปกติอื่น ๆ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าสู่ช่วงวัยทองหลังอายุ 45 ปีและไม่ได้รับผลกระทบจากอาการขาดฮอร์โมนเพศอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับฮอร์โมนบำบัด แต่ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำและปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรับมือและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต