ICU แผนกอภิบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต

ICU (Intensive Care Units หรือไอซียู) คือแผนกพิเศษที่จัดไว้เพื่อรักษาดูแลอาการผู้ที่ป่วยหนักที่อาการเข้าขั้นวิกฤตจากโรค อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยมีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังดูแลอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และคอยบริหารจัดการให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ICU มีไว้เพื่อรักษาดูแลอาการผู้ป่วยให้พ้นจากภาวะวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและสามารถย้ายไปพักฟื้นรักษาตัวในแผนกรักษาเฉพาะทางต่าง ๆ ต่อไปได้ บางโรงพยาบาลอาจมี ICU เฉพาะในแต่ละแผนก เช่น ICU ของแผนกกุมารเวช ซึ่งจะดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนัก หรือบางโรงพยาบาลอาจมีแผนก ICU แห่งเดียว แต่แบ่งโซนการรักษาตามอาการของผู้ป่วย

ICU

อาการของผู้ป่วยหนักที่ต้องรักษาตัวใน ICU

ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวเข้ามารักษาในแผนก ICU คือ ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง มีความเสี่ยงต่อชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งการดูแลและเฝ้าระวังอาการใน ICU จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น

ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในห้อง ICU ส่วนใหญ่มักเผชิญปัญหาอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลาย ๆ ส่วน ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือผู้ป่วยอาจไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่ ได้แก่

บางโรงพยาบาลอาจมี ICU เฉพาะสำหรับเด็กแรกเกิดที่มีความผิดปกติและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น คลอดก่อนกำหนดหรือมีโรคร้ายแรง เรียกว่าห้องอภิบาลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤต (NICU) 

อุปกรณ์ภายใน ICU

ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมารักษาใน ICU จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอด 24 ชั่วโมง โดย ICU แต่ละโรงพยายาบาลอาจแตกต่างกัน บางที่เป็นห้องขนาดใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมาก โดยจะมีผ้าม่านกั้นแต่ละเตียง บางที่อาจแยกเป็นห้องเดี่ยว และจะมีห้องปลอดเชื้อสำหรับผู้ป่วยโรคติดต่อที่สามารถแพร่เชื้อได้ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่ติดเชื้อได้ง่าย 

มีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น สายยางและสายไฟต่าง ๆ ถูกต่อพ่วงเข้ากับเตียงผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยประคับประคองและรักษาอาการให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายผู้ป่วยสามารถทำงานต่อไป จนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ในที่สุด โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในห้อง ICU ได้แก่

  • เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ ประกอบด้วยสายยางที่ใช้สอดเข้าทางปาก จมูก หรือรูเล็ก ๆ ที่แพทย์เจาะบริเวณลำคอ เพื่อให้สามารถสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปได้
  • เครื่องมือเฝ้าระวังอาการ เป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผู้ป่วย เช่น ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
  • สายยางที่ต่อเข้ากับเส้นเลือดและตัวปั๊ม ใช้เพื่อส่งสารเหลว สารอาหารที่จำเป็น และให้ยาเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยผ่านทางกระแสเลือด
  • สายยางให้อาหาร ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ สายยางจะถูกสอดเข้าทางจมูก ทางช่องเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องเพื่อใส่สายให้อาหาร หรืออาจให้อาหารชนิดเข้มข้นทางเส้นเลือด  
  • สายสวนและท่อระบายของเสีย ผู้ป่วยอาจได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะ ใส่ท่อระบายอุจจาระผ่านลำไส้บริเวณหน้าท้อง ใส่ท่อระบายเลือดจากแผลหรือของเหลวจากร่างกาย

ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาบรรเทาอาการปวด หรือยาระงับประสาทที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน เนื่องจากการต่อเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตใน ICU อาจสร้างความเจ็บปวดและทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว

การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาตัวใน ICU

อำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาใน ICU จะแตกต่างกันตามกรณี หากผู้ป่วยเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว คือมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ยังคงมีสติรู้สึกตัว และสามารถสื่อสารได้ในระหว่างเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอำนาจการตัดสินใจเลือกการรักษาทั้งหมดได้ด้วยตนเอง

แต่หากผู้ป่วยหมดสติ หรือไม่มีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ในขณะนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถตัดสินใจหรืออนุญาตให้ทำการรักษาในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง 

หากผู้ป่วยรู้ตัวก่อนว่าต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินใน ICU ควรมอบอำนาจให้ผู้ที่ไว้ใจได้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการรักษา หรือแจ้งให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแทนโดยชอบทราบก่อนล่วงหน้าว่าขั้นตอนใดที่ไม่ต้องการให้แพทย์ทำการรักษาเมื่อถึงเวลาป่วยจนถึงภาวะวิกฤต ซึ่งตามกฎหมายได้เรียงลำดับผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนตามลำดับ ดังนี้

  1. คู่สมรส  
  2. บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
  3. บิดา มารดา
  4. ญาติระดับใด ๆ ก็ตาม
  5. ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อโดยบุคคลที่ดูแลผู้ป่วยนั้นอยู่ประจำ
  6. บุคลากรทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด

หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจ แพทย์อาจตัดสินใจรักษาตามวิธีการที่เหมาะสม หรือปรึกษากับญาติของผู้ป่วยถึงวิธีการรักษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด รวมถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นสามารถออกจาก ICU ได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่บางรายอาจต้องใช้เวลารักษาตัวใน ICU นานหลายวัน หลายเดือน หรือมีอาการทรุดหนักลงจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

คำแนะนำในการการเยี่ยมผู้ป่วยใน ICU

แม้ผู้ป่วยใน ICU บางรายอาจไม่รู้สึกตัว ไม่ได้สติ หรือมีอาการหนัก แต่ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์อนุญาต โดยญาติหรือบุคคลใกล้ชิดอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้นและอาจส่งผลต่อการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้ ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมควรปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

1. เวลาเยี่ยม

ผู้มาเยี่ยมต้องเข้าเยี่ยมตามช่วงเวลาที่โรงพยาบาลกำหนดไว้เท่านั้น โดยที่ทางแพทย์อาจจำกัดจำนวนคนมาเยี่ยม เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ป่วย ป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อ หรือกระทบต่อกระบวนการรักษาภายในห้อง

2. ขอคำแนะนำ

ผู้มาเยี่ยมต้องสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลให้ดีถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำก่อนเข้าเยี่ยมผู้ป่วย สิ่งใดควรนำมาเยี่ยมหรือไม่ควรนำมา และควรพูดคุยกับแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะ เพื่อซักถามถึงข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการและการรักษาผู้ป่วย รวมถึงสอบถามถึงสภาวะในปัจจุบันของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการรับมือในขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม

3. สุขอนามัย

ผู้มาเยี่ยมต้องล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเข้าเยี่ยม ไม่นำของมาเยี่ยมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย เช่น ดอกไม้ เข้ามาใน ICU และผู้มาเยี่ยมต้องมีสุขภาพดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ที่มาเยี่ยม

4. เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิต

ผู้มาเยี่ยมอาจสังเกตเห็นสายยางและสายไฟระโยงระยาง รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ ตัวและรอบเตียงผู้ป่วย ผู้มาเยี่ยมสามารถถามเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลถึงการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชนิดที่เกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วยได้ โดยระมัดระมังไม่ไปแตะต้องอุปกรณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ

5. การพูดคุยกับผู้ป่วย

ผู้มาเยี่ยมควรให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนและรับการรักษาอย่างเต็มที่ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้ป่วยและการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ บางครั้งผู้เข้าเยี่ยมอาจต้องปิดโทรศัพท์มือถือขณะมาเยี่ยมผู้ป่วยใน ICU ด้วย

หากแพทย์อนุญาต ผู้มาเยี่ยมสามารถแสดงความรักความเป็นห่วงและให้กำลังใจผู้ป่วยได้ด้วยการจับมือหรือสัมผัสตัวผู้ป่วยเบา ๆ อ่านหนังสือ บทกลอน หรือเปิดเพลงให้ผู้ป่วยฟัง หากแพทย์มีความเห็นว่าเรื่องราวหรือบทเพลงดังกล่าวมีความเหมาะสมและสามารถทำได้เท่านั้น

หากผู้ป่วยกำลังรู้สึกตัวตื่น ควรพูดกับผู้ป่วยด้วยเสียงเบา ๆ สร้างบรรยากาศรอบข้างให้ผู้ป่วยรู้สึกอยู่ในสถานการณ์ปกติ เช่น บอกวันเวลาในปัจจุบัน อธิบายถึงเสียงรอบข้างภายในห้อง ICU เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ พูดให้กำลังใจให้ผู้ป่วยมีความหวังและคลายความวิตกกังวลลง หลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่สร้างความไม่สบายใจ เช่น เรื่องการเงิน หรือปัญหาภายในครอบครัว

กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ อาจใช้กระดานช่วยให้ผู้ป่วยขีดเขียนข้อความลงในนั้นเพื่อแสดงความประสงค์ต่าง ๆ ของผู้ป่วยแทนการพูดคุย หรือให้ผู้ป่วยฝึกสื่อสารด้วยภาษากาย เช่น การใช้นิ้วหัวแม่มือชูขึ้นแทนคำว่า ดี เอานิ้วลงแทนคำว่า เจ็บ โดยผู้มาเยี่ยมควรมีความอดทน และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร

6. ดูแลสุขภาพกายและสภาวะจิตใจของผู้ดูแล

ควรจัดตารางเวลาญาติหรือบุคคลใกล้ชิดให้สลับผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมและดูแลผู้ป่วย เพื่อไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเหน็ดเหนื่อยอ่อนแรงจนเกินไปจากการคอยมาดูแลผู้ป่วย หากผู้มาเยี่ยมมีสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง โกรธ สับสน เสียใจ กระวนกระวาย และวิตกกังวล สามารถขอคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้

คนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งดูแลตนเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถอยู่ช่วยเหลือดูแลเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยจนผู้ป่วยพ้นจากภาวะอันตรายได้ต่อไป

การพักฟื้นหลังออกจาก ICU

เมื่อผู้ป่วยพ้นจากสภาวะวิกฤต แพทย์จะย้ายผู้ป่วยออกจาก ICU แล้วส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรักษาที่แผนกรักษาเฉพาะทางต่าง ๆ ตามอาการป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวและสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ต่อไป 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังออกจาก ICU เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถปรับสภาพได้ดีหลังหมดฤทธิ์ยา และยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ เช่น

  • แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อตึง
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคิด เช่น ความจำไม่ดี คิดอะไรไม่ออกอย่างที่เคยทำได้

อาการเหล่านี้อาจส่งผลยาวนานหลายเดือน ผู้ป่วยที่ได้ย้ายออกจาก ICU จึงควรได้รับการรักษาดูแลและติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสมจนกว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายไป แพทย์อาจสั่งจ่ายยาและให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งนัดหมายให้มาตรวจติดตามอาการ ซึ่งญาติและบุคคลใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์