โพรไบโอติก (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น โพรไบโอติก Lactobacillus reuteri (L. reuteri) หรือแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโพรไบโอติกสำหรับเด็ก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับหลายชิ้นว่า โพรไบโอติกชนิดนี้อาจช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
โพรไบโอติกและระบบภูมิคุ้มกันมีความเกี่ยวข้องกันในหลายด้าน การที่เด็ก ๆ ได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่ เหมาะสมอยู่เป็นประจำสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงและป่วยน้อยลง ทำให้เด็ก ๆ เติบโตและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก ๆ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี โพรไบโอติกสำหรับเด็กกันมากขึ้น
รู้จัก L. reuteri (แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี) โพรไบโอติกสำหรับเด็ก
L. reuteri คือ โพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์มีประโยชน์ชนิดหนึ่งในกลุ่มแล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่หลายคนคุ้นหูกัน ซึ่งแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี จัดเป็นเชื้อแล็กโทบาซิลลัสสายพันธุ์เฉพาะที่ถูกค้นพบครั้งแรก ในปีค.ศ. 1962 และต่อมาก็ได้มีการนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ดังกล่าวมาศึกษาวิจัยจนพบผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ
แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี ได้ถูกนำมาศึกษาทดลองในหลายด้าน โดยกลไกเบื้องต้นของ แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี คือการผลิตสารรูเทอริน (Reuterin) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค อย่างเช่น เชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจัดเป็นคุณสมบัติที่พบได้ในโพรไบโอติกบางชนิดเท่านั้น
นอกเหนือจากคุณสมบัติเฉพาะของ L. reuteri แล้ว โพรไบโอติกชนิดนี้จะเข้าไปครองพื้นที่ในระบบทางเดินอาหารเพื่อปรับสมดุลของจำนวนจุลินทรีย์มีประโยชน์กับจุลินทรีย์ก่อโรคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อร่างกาย แต่หากโพรไบโอติกลดลงอาจทำให้สมดุลจุลินทรีย์เสียสมดุลและอาจทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มากขึ้น
ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ และโดยธรรมชาติของเด็ก การเล่นซนกับเพื่อน ๆ กับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่การเล่นนอกบ้านกับธรรมชาติก็อาจทำให้เขาได้รับเชื้อโรคจนก่อให้เกิดอาการป่วยได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เข้าสู่วัยเรียนหรือเด็กเล็กที่ต้องเข้าเนอร์สเซอรี่ เด็กกลุ่มนี้อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคจากเด็กคนอื่น
แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกได้ด้วยการดูแลสุขภาพเขาให้แข็งแรง โดยการเลือกเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก อย่างเช่น โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ L. reuteri DSM 17938 ซึ่งเป็นโพรไบโอติกที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำนมแม่ เพราะมีการศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการได้รับโพรไบโอติกนี้ ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงได้
โพรไบโอติกสำหรับเด็กสายพันธุ์เฉพาะ Lactobacillus reuteri (แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี) มีประโยชน์อย่างไร
มีการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียนอายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 3 ขวบ แบ่งเป็น เด็กที่ได้รับ L. reuteri DSM 17938 จำนวน 168 คน กับได้รับยาหลอก (Placebo) 168 คน ให้ทั้งสองกลุ่มรับประทานเป็นเวลา 3 เดือน และติดตามผลหลังจากหยุดรับประทานไปอีก 3 เดือน
ผลพบว่า เด็กกลุ่มที่ได้รับ L. reuteri DSM 17938 มีความถี่และระยะเวลาของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และอาการท้องเสียลดน้อยลง ทำให้เด็ก ๆ หยุดเรียนน้อยลง ใช้ยาปฏิชีวนะลดลง ไปโรงพยาบาลน้อยลง และในการศึกษายังไม่พบผลข้างเคียงอันตรายจากการใช้โพรไบโอติกชนิดดังกล่าว
นอกจากนี้ โพรไบโอติก L. reuteri DSM17938 ยังได้รับการศึกษาและนำไปใช้ในแง่มุมอื่นอีก เช่น ในทารกที่ร้องโคลิคพบว่าช่วยลดระยะเวลาร้องของทารกได้ ในเด็กที่มีอาการท้องผูกมีการศึกษาพบว่าช่วยทำให้การขับถ่ายดีขึ้น รวมทั้งในเด็ก ๆ ที่มีภาวะปวดท้อง ซึ่งก็พบว่าช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้
โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะแล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี DSM17938 ยังได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารนานาชาติ (WGO: World Gastroenterology Organisation) ซึ่งได้แนะนำโพรไบโอติกสายพันธุ์นี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กที่ต้องเข้าศูนย์รับเลี้ยงตอนกลางวัน เด็กเล็กที่มีอาการร้องกวนโคลิค หรือเด็กที่มีภาวะปวดท้อง
อย่างไรก็ตามก่อนเลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เด็กอ่อน และเด็กที่มีโรคประจำตัว คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
เลือกโพรไบโอติกสำหรับเด็กและลูกน้อยอย่างไร?
การเลือกโพรไบโอติกสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กในช่วงวัยใด คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้ ลูกน้อยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ โดยวิธีต่อไปนี้น่าจะเป็นแนวทางในการเลือกซื้อและเลือกใช้โพรไบโอติก สำหรับเด็กเบื้องต้น
- ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการเลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็ก และอาหารเสริมอื่น ๆ รวมทั้งสอบถามข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ความจำเป็น และวิธีใช้อย่างปลอดภัย พร้อมแจ้งโรคประจำตัว ของเด็กและยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้โพรไบโอติกพร้อมกับยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา เพราะยาดังกล่าวอาจลดจำนวนของโพรไบโอติกได้ หากจำเป็นต้องใช้พร้อมกัน ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงการเว้นระยะห่างในการใช้ยา กลุ่มดังกล่าวและโพรไบโอติก
- ใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับเด็กตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถาม แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
- ช่วงแรกของการใช้โพรไบโอติกบางตัวอาจพบกับผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการท้องอืดและ ท้องเสียที่ไม่รุนแรง ซึ่งมักหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์
- เมื่อเริ่มใช้แล้ว ควรใช้อย่างสม่ำเสมอตามฉลากบรรจุภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน
- โพรไบโอติกส่วนใหญ่จัดเป็นอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค แต่อาจช่วยเสริมสุขภาพ บรรเทาความรุนแรงและ ลดระยะเวลาของการเจ็บป่วย หากลูกน้อยไม่สบายจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่าง เหมาะสม
- เลือกรูปแบบอาหารเสริมโพรไบโอติกให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก
- เลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกที่ได้มาตรฐาน จากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติจากจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.
- ควรเลือกโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่ผ่านการศึกษาทดลองและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันประสิทธิภาพใน การเสริมสร้างสุขภาพ เช่น โพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ L. reuteri DSM 17938 เพราะแม้จะเรียกว่า โพรไบโอติกเหมือนกัน แต่ละสายพันธุ์ก็ส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกัน
- ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่แพทย์แนะนำ
- ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำบนฉลากบนบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพ
- หากใช้แล้วพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นแดง ลมพิษ หายใจติดขัด หายใจมีเสียงหวีด ผิวหนังบวม เป็นไข้สูง ท้องเสียไม่หยุด อาเจียน หรือเกิดอาการซึม ควรหยุดใช้ยา และพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
นอกจากการใช้โพรไบโอติกสำหรับเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพของเด็ก ๆ ด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีพรีโอติก (Prebiotic) เพื่อช่วยเสริมการทำงานของโพรไบโอติก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงการรับวัคซีนตามช่วงวัย เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตได้อย่างแข็งแรงสมวัย
เอกสารอ้างอิง
- Mai, et al. (2019). Human Breast Milk Promotes the Secretion of Potentially Beneficial Metabolites by Probiotic Lactobacillus reuteri DSM 17938. Nutrients, 11(7), pp. 1548.
- Sanders, et al. (2018). Probiotics for Human Use. Nutrition Bulletin, 43, pp. 212–225.
- Srinivasan, et al. (2018) Lactobacillus reuteri DSM 17938: Review of Evidence in Functional Gastrointestinal Disorders. Pediatrics and Therapeutics, 8(3), pp 1-8.
- Gutierrez-Castrellon, et al. (2014). Diarrhea in Preschool Children and Lactobacillus reuteri: A Randomized Controlled Trial. Pediatrics, 133(4), e904-e909.
- Cleusix, et al. (2007). Inhibitory Activity Spectrum of Reuterin Produced by Lactobacillus reuteri against Intestinal Bacteria. BMC Microbiology, 7, pp. 101.
- Valeur, et al. (2004). Colonization and Immunomodulation by Lactobacillus reuteri ATCC 55730 in the Human Gastrointestinal Tract. Applied and Environmental Microbiology, 70(2), pp. 1176-1181.
- World Gastroenterology Organisation (2017). World Gastroenterology Organisation Global Guidelines: Probiotics and Prebiotics.
- Vimol Srisukh. Mahidol University (2010). Department of Food Chemistry. 4 ขั้นตอน การเลือกโพรไบโอติคส์.
- Cleveland Clinic (2020). Health. Probiotics.
- WebMD. Children's Chewable Probiotic.
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นงนภัส เก้าเอี้ยน
THL2203014-3