ความหมาย ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
Mania หรือภาวะแมเนีย คือ ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยมักรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา อารมณ์ดีผิดปกติ มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สูงมาก ทั้งยังถูกดึงความสนใจได้ง่าย มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
อาการของภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
Mania เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีพลังงานมากผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นจนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
โดยทั่วไป ผู้ป่วยภาวะ Mania อาจมีอาการ ดังนี้
- รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สูงมากจนผิดปกติ
- อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไป อยู่ไม่นิ่ง
- ไม่รู้สึกง่วงเมื่อถึงเวลานอน
- มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก
- ไม่มีสมาธิ วอกแวก ถูกดึงความสนใจจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ง่าย รวมถึงอาจหงุดหงิดและตื่นเต้นง่าย
- ไวต่อความรู้สึกต่าง ๆ เช่น กลิ่น และการสัมผัส เป็นต้น
- มีความคิดสร้างสรรค์หรือการวางแผนใหม่ ๆ มากมาย และมีความทะเยอะทะยานสูง
- หุนหันพลันแล่น คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ขาดการยับยั้งชั่งใจ
- ประมาทและตัดสินใจได้ไม่ดี ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง อาจทำในสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น ขับรถเร็ว ใช้เงินฟุ่มเฟือย เป็นต้น
- มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เมื่ออาการของภาวะ Mania ลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้าหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีอาการ และหากผู้ป่วยมีอาการทางจิต เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว หลงผิด และหวาดระแวง เป็นต้น ผู้ป่วยอาจไม่สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่เกิดจากอาการประสาทหลอนดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ยังมีภาวะไฮโปแมเนีย (Hypomania) ซึ่งมีลักษณะเดียวกันแต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าภาวะ Mania โดยผู้ป่วยอาจมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สูงกว่าปกติจนบุคคลรอบข้างสังเกตได้ แม้อาการจะไม่รุนแรงมาก และผู้ป่วยภาวะ Hypomania มักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ภาวะนี้ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขณะเกิดอาการ ทั้งผู้ป่วยภาวะ Mania และ Hypomania อาจไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น แม้ผู้อื่นจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติแล้วก็ตาม ดังนั้น หากผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดพบเห็นอาการที่คาดว่าอาจเป็นสัญญาณของภาวะนี้ ควรไปพบแพทย์หรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
ภาวะ Mania อาจเกิดจากสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะความผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคไบโพลาร์ โรคจิตอารมณ์ โรคซึมเศร้าที่เกิดหลังการคลอด และมีระดับความเครียดสูง เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอน หรือนอนน้อย
- ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอย่างยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ
- ผลจากความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือระบบประสาท
- การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เช่น การย้ายบ้าน การหย่าร้าง การสูญเสียบุคคลใกล้ตัว เป็นต้น
- ปัญหาชีวิต เช่น การว่างงาน ปัญหาด้านการเงินความยากจน การถูกกีดกันทางสังคม หรือเร่ร่อนไร้บ้าน เป็นต้น
- ความรุนแรง การบาดเจ็บ หรือการถูกทารุณกรรม
- การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์
- การคลอดบุตร
- ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ โดยผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ อาจเสี่ยงประสบภาวะ Mania มากกว่าคนปกติ
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
การวินิจฉัยภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
การวินิจฉัยภาวะ Mania อาจมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้อาจไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ โดยในเบื้องต้นแพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย และสอบถามเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับการใช้ยาทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้เอง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม รวมถึงสารเสพติดต่าง ๆ อย่างละเอียด ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะ Mania ได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยประสบภาวะ Mania ได้แม้จะมีอาการแสดงให้เห็นน้อยกว่า 1 สัปดาห์ก็ตาม แต่หากผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือมีอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน แพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะ Hypomania แทน
การรักษาภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
ในการรักษาภาวะ Mania แพทย์จะพิจารณากระบวนการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งอาจต้องใช้การรักษาควบคู่กันไปมากกว่าหนึ่งวิธี เพื่อประสิทธิภาพทางการรักษาที่ดีที่สุด ดังนี้
การรักษาด้วยยา
แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มยารักษาอาการทางจิต เช่น ฮาโลเพอริดอล ควิไทอะปีน โอแลนซาปีน และริสเพอริโดน เป็นต้น รวมทั้งยาควบคุมอารมณ์ เช่น ลิเทียม วาลโพรเอท-เซมิโซเดียม คาร์บามาซีปีน และลาโมไตรจีน เป็นต้น
จิตบำบัด
การบำบัดทางจิต หรือ Psychotherapy เป็นวิธีที่ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดได้ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) เป็นการบำบัดโดยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้ตนเองเกิดภาวะ Mania แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของตัวเอง
- การบัดบัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy) เป็นการบำบัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคคลรอบข้างให้ดียิ่งขึ้น
- การปรับความคิดโดยใช้การฝึกสติเป็นพื้นฐาน (Mindfulness-Based Cognitive Therapy) เป็นวิธีการบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสติ สมาธิ และอยู่กับปัจจุบัน
- การบำบัดทางครอบครัว (Family-Focused Therapy) เป็นการบำบัดที่ช่วยให้ครอบครัวทราบวิธีรับมือกับผู้ป่วย และพัฒนาความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น
- การให้ความรู้ทางสุขภาพจิต (Psychoeducation) เป็นการให้ผู้ป่วยรู้จักภาวะเจ็บป่วยทางจิตของตนเอง และเรียนรู้การรับมือจัดการด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
การรักษาด้วยไฟฟ้า
เป็นวิธีการรักษาที่พบได้น้อย มักใช้ในกรณีที่การรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้
การช่วยเหลือทางสังคม
ผู้ป่วยอาจได้รับความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจากทีมผู้ดูแลด้านสุขภาพจิตหรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทางจิตในชุมชน รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะ Mania สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะนี้ เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น โดยผู้ป่วยอาจจดบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ตนเองและควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิผลทางการรักษาที่ดี
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
ผู้ป่วยภาวะ Mania อาจใช้สารเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ รวมทั้งอาจมีพฤติกรรมที่รุนแรงและขาดการยับยั้งชั่งใจจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจ มีประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้แย่ลง มีปัญหาทางการเงิน ก่ออาชญากรรม และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
ในกรณีที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ โดยผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 60 เท่า ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตายควรรีบขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากแพทย์หรือคนใกล้ตัว ส่วนบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตอาการและรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ทันทีที่พบอาการสำคัญ รวมทั้งผู้ป่วยสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิตโดยโทร 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
การป้องกันภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ช่วยป้องกันภาวะ Mania ได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของภาวะ Mania ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้ อาจดูแลตัวเองเพื่อควบคุมอาการและป้องกันอาการรุนแรงขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเป็นเวลา และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนตามเวลาเดิมเป็นประจำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระตุ้นหรือดึงความสนใจก่อนนอน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับได้
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และสารกระตุ้นอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย มีเสียงดัง รวมถึงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตรายอย่างการขับรถเร็ว โดยพยายามอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบและไม่มีสิ่งรบกวน
- รู้จักผ่อนคลายจิตใจและทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา หรือออกไปเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น
- รับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สภาวะอารมณ์คงที่ ไมหยุดรับประทานยาเองแม้มีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
- เข้ารับการรักษาจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา
- วางแผนจัดการกับความเครียด โดยจัดสรรการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงภาระงานหรือความรับผิดชอบที่เกินกำลัง และอาจวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าด้วย
- พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเกี่ยวกับอาการและความผิดปกติที่ตนเป็นอยู่ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเข้าใจภาวะ Mania และช่วยให้รับมือกับอาการต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยอาจขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดในเรื่องต่าง ๆ อย่างช่วยเตือนความจำ หรือช่วยดูแลการเงินของผู้ป่วยด้วย
- พบปะพูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่ประสบภาวะ Mania เหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน