Meclizine
Meclizine (เมคลิซีน) หรือ Meclozine (เมโคลซีน) เป็นยารักษาและป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจากเมารถ รวมถึงบรรเทาอาการบ้านหมุนจากโรคที่ส่งผลต่อหูชั้นใน โดยตัวยาจะลดการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการวิงเวียนและอาการแพ้ บางกรณีอาจนำมาใช้รักษาภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Meclizine
กลุ่มยา | ยาต้านฮิสตามีน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | รักษาและป้องกันอาการเมารถ บรรเทาอาการบ้านหมุน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไป ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิด ความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรือ อาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อ ใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการ ศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป |
คำเตือนในการใช้ยา Meclizine
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคหืด ต้อหิน ต่อมลูกหมากโต ชัก ไทรอยด์เป็นพิษ ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และยากันชัก เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรระมัดระวังในขณะขับขี่ยานพาหนะ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคิดหรือการตอบสนองลดลง
- ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยานี้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบขณะที่ใช้ยานี้ หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
- ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงของยามากกว่าปกติ โดยเด็กอาจรู้สึกตื่นตัวหรือกระวนกระวาย ในขณะที่ผู้สูงอายุอาจมีอาการเวียนศีรษะ สับสน มีปัญหาในการปัสสาวะ และอาจเสี่ยงต่อการหกล้มมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสีย และความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้
- ผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและส่งผลกระทบต่อทารกได้
- ยาเมคลิซีนไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
ปริมาณการใช้ยา Meclizine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
บรรเทาอาการบ้านหมุน
ตัวอย่างการใช้ยา Meclizine เพื่อบรรเทาอาการบ้านหมุน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 25-100 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานหลายครั้งในแต่ละวัน โดยปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป รับประทานยาในปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่
รักษาและป้องกันอาการเมารถ
ตัวอย่างการใช้ยา Meclizine เพื่อรักษาอาการเมารถ
ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม/วัน ก่อนการเดินทาง 1 ชั่วโมง และอาจรับประทานยาซ้ำอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หากจำเป็น
เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป รับประทานยาในปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่
การใช้ยา Meclizine
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาเพื่อป้องกันอาการเมารถ ควรรับประทานยามื้อแรกก่อนออกเดินหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลให้เมารถประมาณ 1 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาเพื่อรักษาอาการบ้านหมุนอาจต้องรับประทานยาบ่อยครั้งตามคำสั่งของแพทย์
- ห้ามผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่ระบุบนฉลากหรือใช้ยาจนบ่อยเกินความจำเป็น
- หากผู้ป่วยต้องรับประทานยาเป็นประจำแต่ลืมใช้ยา ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ แต่ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด รวมทั้งเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Meclizine
โดยทั่วไปยาเมคลิซีนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยปวดศีรษะ อาเจียน ปากแห้ง รู้สึกเพลียหรือง่วงซึม ซึ่งหากมีอาการมากหรืออาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปปรึกษาแพทย์ทันที หากเกิดอาการรุนแรง เช่น
- มีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น
- สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น รู้สึกกระสับกระส่ายหรือสับสน
- หัวใจเต้นเร็วหรือรู้สึกใจสั่น
- มือสั่น
- ปัสสาวะออกยาก
- ชัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากผู้ป่วยรายใดมีความกังวลใจ รวมทั้งพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเช่นกัน