Midazolam (มิดาโซแลม)

Midazolam (มิดาโซแลม)

Midazolam (มิดาโซแลม) เป็นยาระงับประสาทและยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าสารกาบา (GABA) ช่วยให้ระบบประสาทและสมองเกิดความผ่อนคลายและสงบ นำมาใช้ประโยชน์ในขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์ ช่วยให้ผู้ป่วยง่วงจนหลับไปและไม่รู้สึกตัว รวมทั้งช่วยลดความวิตกกังวล รักษาอาการนอนไม่หลับและอาการชัก นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Midazolam จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ที่มีการควบคุมให้ซื้อได้เฉพาะโรงพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม การใช้ยาจึงต้องภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

Midazolam

เกี่ยวกับยา Midazolam

กลุ่มยา ยาระงับประสาทและยานอนหลับ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ช่วยให้ผู้ป่วยหลับและอยู่ในภาวะสงบก่อนขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์ รักษาอาการนอนไม่หลับและอาการชัก
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Midazolam

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคต้อหิน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร โดยเฉพาะยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีน ยาเฟนตานิล เป็นต้น เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียง
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดยาได้
  • หลีกเลี่ยงการขับรถและการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายเป็นเวลา 1 วัน หลังจากที่ได้รับยานี้หรือจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง
  • หลังจากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยอาจต้องได้รับการช่วยเหลือในการยืนหรือเดินจนกว่าฤทธิ์ของยาจะหมดลง
  • ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มแอลกอฮอล์ และก่อนการใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองช้า
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเกรปฟรุตหรือน้ำเกรปฟรุตในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • เด็กและหญิงตั้งครรภ์ต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะมีผลการศึกษาพบว่าการใช้ยาสลบหรือยาที่ช่วยให้นอนหลับในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี อาจทำให้เกิดปัญหาทางสมองในระยะยาวได้ และหากใช้ยานี้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์อาจมีปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เพราะไม่อาจยืนยันได้ว่าตัวยาจะไม่ซึมผ่านน้ำนมและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก
  • ยานี้มีเบนซิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมากในทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็ก
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูง

ปริมาณการใช้ยา Midazolam

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

การใช้เป็นยาระงับประสาทก่อนเข้ารับการผ่าตัด

  • เด็กอายุ 6 เดือน-15 ปี รับประทานยาปริมาณ 0.25-1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง 20-30 นาที ก่อนขั้นตอนการรักษา ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 1-15 ปี ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 50-150 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

การให้ยาก่อนขั้นตอนระงับความรู้สึก

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 70-100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (5 มิลลิกรัม) ในช่วง20-60 นาที ก่อนการผ่าตัด หรืออาจฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม ในช่วง 5-30 นาที ก่อนการผ่าตัด และฉีดยาซ้ำหากจำเป็น
  • เด็กอายุ 1-15 ปี ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 80-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 15-30 นาที ก่อนผ่าตัด
  • ผู้สูงอายุ ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 2-3 มิลลิกรัม (ช่วงปริมาณยา 20-50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ประมาณ 20-60 นาที ก่อนการผ่าตัด หรืออาจฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 500 ไมโครกรัม 5-30 นาที ก่อนขั้นตอนรักษา หากจำเป็นให้ฉีดยาซ้ำอีกครั้งอย่างช้า ๆ

การระงับประสาทเพื่อการรักษาทางทันตกรรมและขั้นตอนการผ่าตัดเล็ก

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 2-2.5 มิลลิกรัม ในอัตรา 2 มิลลิกรัม/นาที 5-10 นาที ก่อนขั้นตอนการรักษา และเพิ่มปริมาณยาจากเดิมครั้งละ 0.5-1 มิลลิกรัม โดยเว้นระยะห่างการให้ยาแต่ละรอบมากกว่า 2 นาที ปริมาณยาโดยรวมควรอยู่ในช่วง 2.5-7.5 มิลลิกรัม (ประมาณ 0.07 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)
  • เด็กอายุ 6 เดือน-5 ปี ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 50-100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเพิ่มปริมาณยาได้มากถึง 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 6-12 ปี ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 25-50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และเพิ่มปริมาณยาได้มากถึง 400 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม โดยฉีดยาปริมาณเริ่มต้นเป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที หากต้องการเพิ่มยา แนะนำให้เว้นระยะห่างการให้ยาเพิ่มในแต่ละรอบมากกว่า 2-5 นาที
  • ผู้สูงอายุ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 0.5-1.5 มิลลิกรัม ในอัตราสูงสุด 2 มิลลิกรัม/นาที และฉีดยา 5-10 นาที ก่อนขั้นตอนการรักษา หากจำเป็นให้เพิ่มปริมาณยา 0.5-1 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3.5 มิลลิกรัม หรือจนกว่าจะถึงจุดที่ต้องการ

การใช้ระงับประสาทกรณีผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติ

  • ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 0.03-0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจเพิ่มปริมาณยา 1-2.5 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ 20-30 วินาที และเว้นระยะ 2 นาที ในการให้ยาแต่ละครั้ง ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการคือ 0.02-0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกิน มีปริมาตรเลือดน้อย หรือผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือด ให้ลดหรือเว้นปริมาณการให้ยาเริ่มต้นและปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ
  • เด็กแรกเกิดอายุน้อยกว่า 32 สัปดาห์ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ 60 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง ให้ลดปริิมาณยาลงเป็น 30 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ระยะเวลาในการรักษาสูงสุด 4 วัน
  • เด็กแรกเกิดอายุ 32 สัปดาห์-5 เดือน ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 60 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ระยะเวลาในการรักษาสูงสุด 4 วัน
  • เด็กแรกเกิดอายุ 6 เดือน-12 ปี ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 50-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 นาที ปริมาณยาสำหรับควมคุมอาการคือ 30-120 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยหยดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องปรับลดปริมาณยา

การให้ยานำสลบ

  • ผู้ใหญ่ ปริมาณยาโดยรวมควรอยู่ในช่วง 150-250 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ในผู้ป่วยที่มีการเตรียมเข้ารับการผ่าตัดมาเรียบร้อยแล้ว และฉีดยาปริมาณ 300-350 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กรณีผู้ป่วยไม่มีการเตรียมเข้ารับการผ่าตัดมาก่อน

อาการชักกรณีคนไข้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

  • เด็กอายุ 3-6 เดือน รับประทานยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุ 7-11 เดือน รับประทานยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุ 1-4 ปี รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุ 5-9 ปี รับประทานยาปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุ 10-17 ปี รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

รักษาอาการนอนไม่หลับระยะสั้น

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 7.5-15 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม ก่อนนอน

การใช้ยา Midazolam

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยาชนิดฉีดใช้ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ห้ามฉีดเข้าทางกระดูกสันหลัง
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ควรปรึกษาแพทย์
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Midazolam

การใช้ยา Midazolam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลียหรือเหนื่อยผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน มีปัญหาเกี่ยวกับความจำหรือสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดยาได้ ผู้ป่วยจะต้องการยามากขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการถอนยาหลังจากหยุดใช้ยา เช่น กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และอาเจียน หากพบว่ามีอาการดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์มักแก้ไขโดยการค่อย ๆ ปรับลดปริมาณยาจนหยุดยาได้โดยไม่มีอาการดังกล่าว

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Midazolam ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดังหวีด มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรงหรือหมดสติ
  • ปัญหาการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจแผ่วเบา เป็นต้น
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • มีอาการกระตุก สั่น หรือชัก
  • มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • กระสับกระส่าย สับสน อารมณ์แปรปรวน

ในกรณีที่พบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน