Midlife Crisis มักใช้เรียกช่วงเวลาของการเผชิญความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และความเป็นอยู่ในชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือเมื่ออายุประมาณ 40–60 ปี เช่น ปัญหาสุขภาพ การทำงาน การเงิน และครอบครัว ซึ่งอาจทำให้สภาพจิตใจแย่ลง มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และส่งผลต่อการใช้ชีวิต
Midlife Crisis ไม่ได้เกิดกับคนที่เข้าสู่วัยกลางคนทุกคน และไม่ได้จัดเป็นโรคโดยตรงตามคู่มือวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) แต่ Midlife Crisis อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคทางจิตเวชได้ บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักอาการ สาเหตุ และวิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคนไปด้วยกัน
สัญญาณของ Midlife Crisis
สัญญาณบ่งบอก Midlife Crisis มักคล้ายกับอาการของผู้ที่เผชิญกับปัญหาอื่น ๆ ในชีวิต สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า เช่น
- ความสุขและความพอใจในชีวิตลดลง ชอบเปรียบเทียบความสุขในชีวิตและความสำเร็จของตัวเองกับคนรอบตัว
- รู้สึกไร้ค่า หมดหนทาง และสิ้นหวัง หมดความสนใจในการทำงานอดิเรกที่ชอบ ขาดแรงจูงใจในการไปถึงเป้าหมาย หรือไม่มีเป้าหมายในชีวิต
- อารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น ไม่พอใจ เบื่อ โกรธ หงุดหงิด เศร้ากับชีวิต การงาน และความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
- กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียผิดปกติ และมีปัญหาในการนอนหลับ
- พฤติกรรมการกินต่างจากเดิม ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากผิดปกติ
- ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงไป
- ละเลยการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว
- มีพฤติกรรมผิด ๆ หรือทำลายสุขภาพมากขึ้น เช่น เล่นการพนัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
- มีอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้องที่รักษาแล้วไม่หายขาด
- คิดหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ คิดเกี่ยวกับความตาย และพยายามฆ่าตัวตาย
สาเหตุของ Midlife Crisis
ความเปลี่ยนแปลงและปัญหาชีวิตต่าง ๆ ที่รุมเร้าเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Midlife Crisis ได้ เช่น
- ความเสื่อมถอยของสุขภาพ เช่น ความจำแย่ลง ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย มีโรคประจำตัว หรือโรคทางจิตเวชอยู่เดิม อย่างโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)
- ปัญหาภายในครอบครัว เช่น การหย่าร้าง ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานในที่ห่างไกลทำให้ไม่ได้ติดต่อกัน การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งเป็นงานที่ใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก จึงทำให้ผู้ดูแลเกิดความเหนื่อย เบื่อ และเครียดได้ง่าย
- อาชีพการงาน เช่น ทำงานซ้ำ ๆ จำเจ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบข้าง หรือทำงานมานานแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้
- ปัญหาการเงิน เช่น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน
- การเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น เติบโตในครอบครัวที่ฐานะยากจน ได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก
- การเข้าสู่วัยทอง (Menopause) ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไป จึงมักมีอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ นอนหลับยาก และนำไปสู่ความเครียด
- การลาออกจากงานมาเลี้ยงดูลูกก็อาจส่งผลให้เกิดความเครียด ท้อแท้ รู้สึกไม่มีคุณค่าเมื่อไม่ได้ทำงาน ซึ่งมักเกิดกับผู้หญิง เนื่องจากฝ่ายที่มักผันตัวมาดูแลลูกมักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
รับมือ Midlife Crisis ได้อย่างไร
Midlife Crisis อาจไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากรู้จักการปรับความคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตจากเชิงลบให้เป็นเชิงบวก เช่น
- ยอมรับและเข้าใจสภาวะอารมณ์ที่เป็นอยู่ จำไว้ว่าความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเอง
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ เขียนไดอารี่บันทึกความรู้สึกและปัญหาที่เจอในแต่ละวัน หรือพูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อระบายปัญหาและอาจทำให้ได้รับคำแนะนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหานั้น ๆ
- ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เรียนภาษา ลงเรียนคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ความเบื่อหน่ายแล้ว ยังทำให้ได้ทักษะใหม่ ๆ ที่อาจทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นด้วย
- ใช้เวลาหรือหากิจกรรมทำกับคนที่รัก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
- เปิดโอกาสให้ตัวเอง ในช่วงเวลาที่เบื่อสิ่งต่าง ๆ อาจหันมาทำสิ่งที่สนใจและใช้โอกาสนี้ทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งอาจช่วยสร้างรายได้ในอีกทางหนึ่ง เช่น ขายของออนไลน์ เขียนนิยาย
- ไปปรึกษาหรือเข้ารับการรักษาจากแพทย์เมื่อมีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ก่อนหรือปัญหาใหม่อย่างความเครียดและความวิตกกังวล โดยเฉพาะหากไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองแล้ว หรือสัญญาณของโรคซึมเศร้า เช่น หดหู่ ร้องไห้บ่อย ท้อแท้ หมดหวัง นอนหลับยาก เบื่ออาหาร ทำงานแย่ลง
Midlife Crisis เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเผชิญกับปัญหาในชีวิต ทำให้เกิดความเครียดเมื่อต้องตัดสินใจและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา หากตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีสัญญาณของ Midlife Crisis และอาการของโรคซึมเศร้าก็ควรไปปรึกษา เข้ารับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ชีวิตวัยกลางคนมีความสุขมากยิ่งขึ้น