NANA (นานะ) เป็นสารในกลุ่มกรดไซอะลิค (Sialic Acid) ที่ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่พบมากถึง 80% ในร่างกายของคนและสัตว์บางชนิดเท่านั้น โดยพบมากในเนื้อเยื่อประสาท ของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำนม เนื้อไก่ รวมทั้งรังของนกแอ่นกินรัง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตเครื่องดื่มรังนก
ในรังนกจะพบปริมาณ NANA หรือ N-Acetyl-Neuraminic Acid ประมาณ 9% ซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่พบในเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อไก่พบปริมาณ NANA 0.2% และเนื้อปลาแซลมอนพบ NANA เพียง 0.1% NANA มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวพรรณ การทำงานของระบบเลือด และสมอง
ประโยชน์ของ NANA ต่อสุขภาพ
NANA มีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
งานวิจัยพบว่าสาร NANA ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีและแข็งแรง จึงช่วยให้ร่างกายสามารถต่อต้านเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ สาร NANA ในรังนกยังมีสรรพคุณต้านเชื้อไวรัส (Antiviral Function) โดยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน และยับยั้งการจับตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงกับเชื้อไวรัส จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย
2. ดูแลผิวพรรณ
NANA เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติจากกระบวนการเผาผลาญอาหาร และได้รับจากปัจจัยภายนอก เช่น การได้รับรังสียูวีในแสงแดด การสูดดมควันบุหรี่ และมลพิษจากสิ่งแวดล้อม หากร่างกายมีสารอนุมูลอิสระปริมาณมากอาจทำให้เซลล์ในร่างกายเกิดความเสียหายและเกิดปัญหาผิวได้
การดื่มรังนกที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง NANA อาจช่วยเร่งการซ่อมแซมเซลล์ผิว ลดเลือนริ้วรอย และช่วยให้ผิวอ่อนเยาว์ นอกจากนี้ นานะมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ในการสร้างเม็ดสีผิว ที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดจุดด่างดำ และทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ สารนานะจึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและอาหารเสริม
3. ช่วยในการทำงานของระบบเลือด
N‐Acetylneuraminic Acids หรือ NANA พบมากบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเลือด ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่ง NANA มีคุณสมบัติช่วยยืดอายุและป้องกันการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมทั้งช่วยเสริมการฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เสียหายอีกด้วย
4. ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง
NANA เป็นสารธรรมชาติที่พบในเนื้อเยื่อสมองและน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตและการทำงานของสมอง โดยเป็นองค์ประกอบสำคัญของแกงกลิโอไซด์ (Gangglioside) ซึ่งพบในเนื้อเยื่อสมอง มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้และความจำ และงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าทารกที่ได้ดื่มนมแม่จะมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ความจำ และระดับสติปัญญาที่ดี
นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่าการรับประทาน NANA จากรังนกอาจช่วยเสริมพัฒนาการของระบบประสาท และชะลอความเสื่อมของสมองตามวัยของผู้สูงอายุจากโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของแกงกลิโอไซด์ในสมอง
5. ปกป้องระบบทางเดินอาหาร
NANA เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเป็นทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) หรืออาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ใหญ่ เช่น บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และช่วยป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) และโรคลำไส้แปรปรวน (lrritable Bowel Syndrome)
เคล็ดลับการบริโภค NANA ให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
โดยทั่วไป ผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถดื่มรังนกได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การดื่มรังนกอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และอาการอาหารเป็นพิษจากการบริโภครังนกที่ไม่สะอาดหรือมีสารปนเปื้อน การเลือกรังนกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จาก NANA ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะดังนี้
- ผลิตจากรังนกแท้ที่มีคุณภาพดีจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ ถูกสุขลักษณะ ไม่มีกลิ่นหรือสิ่งแปลกปลอมในขวด
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุส่วนผสม และสารอาหารในรังนกแท้ เช่น NANA บนฉลากอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการทดสอบปริมาณของสารที่พบในรังนกจากห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน
- ไม่เลือกซื้อรังนกที่มีราคาถูกจนเกินไป เพราะอาจเป็นรังนกปลอมที่ไม่มี NANA และสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยรังนกปลอมมักผลิตจากยางคารายากัม ซึ่งเป็นยางไม้ที่สามารถดูดน้ำและพองตัวเป็นวุ้น จึงทำให้มีลักษณะคล้ายกับรังนกจริง
- เลือกรังนกที่ไม่ผสมสารกันบูดหรือแต่งกลิ่นและรส และมีน้ำตาลต่ำหรือใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ดูแลสุขภาพและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- มีเครื่องหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และระบุข้อมูลผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตบนฉลาก
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือแพ้อาหาร เช่น แพ้โปรตีนหรือคอลลาเจนจากปลา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภครังนกเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
นอกจากการดื่มรังนกที่มีสาร NANA ในการบำรุงร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมมากยิ่งขึ้น
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 1 ธันวาคม 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD
เอกสารอ้างอิง
- Liu, et al. (2022) Sialic acid, the secret gift for the brain, Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 9, pp.1-20.
- Coker, et al. (2021). Carbohydrates great and small, from dietary fiber to sialic acids: How glycans influence the gut microbiome and affect human health, Gut Microbes. 13 (1), pp. 1-18.
- Lee, et al. (2021) Edible Bird's Nest: The Functional Values of the Prized Animal-Based Bioproduct From Southeast Asia-A Review, Frontiers Pharmacology. 12, 626233. https://doi.org/10.3389/fphar.2021.626233
- Rashed, et al. (2021). The Potential Use of Sialic Acid From Edible Bird's Nest to Attenuate Mitochondrial Dysfunction by In Vitro Study, Front Pharmacol. 12:633303. https://doi.org/10.3389/fphar.2021.633303
- Haghani, et al. (2017). Edible bird's nest modulate intracellular molecular pathways of influenza A virus infected cells, BMC complementary and alternative medicine. 17 (1), pp. 22.
- Huang, et al. (2016). Restoring the youth of aged red blood cells and extending their lifespan in circulation by remodelling membrane sialic acid, Journal of cellular and molecular medicine. 20 (2), pp. 294-301.
- Chan, et al. (2015). Edible Bird’s Nest, an Asian Health Food Supplement, Possesses Skin Lightening Activities: Identification of N-Acetylneuraminic Acid as Active Ingredient, Journal of Cosmetics Dermatological Sciences and Applications. 05 (04), pp. 262-274.
- Li, H. and Fan, X. (2014) Quantitative analysis of sialic acids in Chinese conventional foods by HPLC-FLD. Open Journal of Preventive Medicine. 4 (2), pp. 57-63.
- Chan, et al. (2013). Determination of free N-acetylneuraminic acid in edible bird nest: A development of chemical marker for quality control. The Journal of Ethnobiology and Traditional Medicine, 120. pp. 620-628.
- Guo, et al. (2006). Edible bird's nest extract inhibits influenza virus infection, Antiviral Research. 70 (3), pp. 140-146.
- Nigam, P.K., Narain, V.S. & Kumar, A. (2006). Sialic acid in cardiovascular diseases, Indian Journal of Clinical Biochemistry. 21 (1), pp. 54-61.
- กระทรวงสาธารณสุข (2023). กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กรดไซอะลิค (Sialic Acid)" ในรังนก กรดดี…ที่มีประโยชน์.
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2014). สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. รังนก.
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2006). ไม่อยากเสียเงินฟรีดูให้ดีรังนกปลอม.
- Anthony, K. Healthline (2023). Signs and Symptoms of Type A Influenza.
- Devje, S. Healthline (2022). What Are Edible Bird’s Nests? All You Need to Know.
- Duggal, N. Healthline (2017). Bifidobacterium Bifidum: Benefits, Side Effects, and More.
- Palmer, A. Verywell Health (2022). How to Use Antioxidants for Skin Health.