Nebulizer หรือเครื่องพ่นละอองยาไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจอย่างโรคหอบหืดหรือโรคอื่น ๆ นอกจากช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ทางเดินหายใจและช่วยขับเสมหะ ยังมีคุณสมบัติเปลี่ยนยาน้ำให้กลายเป็นละอองฝอยเล็ก ๆ เพื่อให้ยาเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรง ซึ่งอาจช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ และใช้เวลาในการออกฤทธิ์เร็วกว่าการให้ยาด้วยวิธีอื่น ขณะที่ส่งผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ Nebulizer จึงเป็นเครื่องมือที่ผู้ป่วยนิยมใช้ อีกทั้งในปัจจุบัน อุปกรณ์นี้ยังถูกปรับโฉมให้มีขนาดเล็กและเบาลงจนสามารถพกพาไปใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น โดยเครื่องพ่นยาชนิดนี้จะใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เพทย์มักแนะนำให้ใช้กับทารก เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในภาวะที่สามารถกำหนดลมหายใจได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาพ่นในปริมาณมากด้วย
โรคหืดกับการรักษาด้วยเครื่องพ่นยา
ผู้ป่วยโรคหืดจะมีภาวะเยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ส่งผลให้หลอดลมหดเกร็งตัวและตีบแคบฉับพลัน และเกิดการผลิตสารคัดหลั่งข้นเหนียวอย่างเสมหะหรือน้ำมูกภายในหลอดลมมากขึ้น หากหลอดลมหดตัวหรือตีบตันจากการสะสมสารคัดหลั่งปริมาณมากก็จะทำให้อาการของโรคกำเริบ โดยผู้ป่วยอาจไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอก
วิธีการรักษาและควบคุมอาการหอบหืดนั้นทำได้โดยพ่นยาขยายหลอดลมอย่างยาซาลบูทามอล โดยใช้ Nebulizer หรือเครื่องพ่นยาทั่วไป รวมทั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ด้วย ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบยาพ่นหรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ทั้งนี้ การใช้เครื่องพ่นยามีประโยชน์ต่อการรักษาหลายประการ เพราะนอกจากจะช่วยให้ความชุ่มชื้นต่อทางเดินหายใจและช่วยขับเสมหะได้ดี ผู้ป่วยยังสามารถผสมยาได้เองตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพื่อให้การพ่นยามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Nebulizer ทำงานอย่างไร ?
ในการใช้เครื่องพ่นยาแบบ Nebulizer ผู้ใช้ต้องต่อกระเปาะยาและหน้ากากเข้ากับเครื่อง โดยตัวเครื่องจะทำงานด้วยการอัดอากาศหรือแรงดันเพื่อดันยาผ่านตะแกรง จนเกิดเป็นละอองฝอยในขนาดอนุภาคยาที่เหมาะสมกับการรักษา ทั้งนี้ การเกิดละอองฝอยจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเครื่องพ่นยาแต่ละชนิดด้วย ซึ่งลักษณะยาที่เป็นฝอยละอองจะช่วยให้ผู้ป่วยสูดดมยาได้ง่ายกว่าการใช้ยาพ่นทั่วไป เพราะตามปกติแล้วเมื่ออาการหอบหืดกำเริบ ผู้ป่วยจะหายใจเข้าออกได้เพียงสั้น ๆ ทำให้สูดดมยาจากเครื่องพ่นยาทั่วไปที่ต้องอาศัยการหายใจเข้าลึก ๆ ได้ไม่เต็มที่
เครื่องพ่นยาชนิดนี้สามารถใช้ได้กับทั้งยารักษาโรคหืดชนิดที่ออกฤทธิ์เร็วและชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวนาน ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดในการรักษา โดยพิจารณาจากปัจจัยสุขภาพของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ในกรณีที่ต้องใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยอาจได้รับตัวยาที่ผสมแล้วและพร้อมสำหรับใช้งานทันที หรืออาจจำเป็นต้องผสมยาด้วยตนเองก่อนนำไปใช้
Nebulizer มีกี่แบบ ?
Nebulizer แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ โดย 2 รูปแบบที่เป็นที่นิยม มีดังนี้
- Compressor Nebulizer เป็นเครื่องพ่นยาแบบอัดอากาศที่ทำให้ยาแตกตัวเป็นละอองฝอย นิยมมีติดไว้ที่บ้าน เพราะตัวเครื่องมักมีขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะแก่การพกพา
- Mesh Nebulizer เป็นเครื่องพ่นยาที่ใช้หลักการสั่นจนทำให้ยาแตกตัวเป็นละอองฝอยผ่านตะแกรงถี่ โดยส่วนใหญ่เครื่องจะทำงานโดยอาศัยแหล่งพลังงานจากภายนอกอย่างแบตเตอรี่ ข้อดีของเครื่องชนิดนี้ คือ ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก เสียงเบา และพกพาง่าย
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ Nebulizer รูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดหากตนเองหรือลูกน้อยป่วยเป็นโรคหืด โดยควรเลือกใช้เครื่องที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์รองรับ โดยเฉพาะเครื่องพ่นยาที่ถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็ก เพราะอาจช่วยให้ผู้ป่วยใช้งานได้สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในบ้านและพกพาเพื่อนำไปใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วย
วิธีการใช้ Nebulizer อย่างถูกต้อง
ส่วนใหญ่เครื่อง Nebulizer ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ ตัวเครื่องพ่นยา ชิ้นส่วนที่ทำให้เกิดละอองฝอย กระเปาะยา หน้ากากหรือท่อหายใจ และท่ออากาศ นอกจากนี้ ยังมีตัวยาที่ทางแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้ ซึ่งความถี่และระยะเวลาในการสูดดมยาที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพท์เป็นหลัก ผู้ใช้จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
โดยผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้เครื่องพ่นยาแบบ Nebulizer ดังต่อไปนี้
- วางเครื่องพ่นยาให้ตั้งอย่างมั่นคงบนพื้นผิวที่เรียบ และไม่ให้อยู่ไกลจากเต้าเสียบจนเกินไป
- ตรวจสอบความสะอาดของอุปกรณ์ทุกชิ้น
- ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมยา
- ใส่ยาลงในเครื่องทำฝอยละอองตามปริมาณที่แพทย์กำหนด หากจำเป็นต้องผสมยาเอง ให้ใช้ภาชนะตวงที่สะอาดและมีคุณภาพเพื่อตวงยาให้พอดี
- ประกอบเครื่องทำฝอยละอองเข้ากับเครื่องอัดอากาศ จากนั้นให้ต่อหน้ากากเข้ากับเครื่องทำฝอยละออง แล้วจึงต่อท่อคอมเพรสเซอร์เข้ากับเครื่องอัดอากาศและเครื่องทำฝอยละออง
- เปิดเครื่องอัดอากาศ หากเครื่องทำงานเป็นปกติจะพบฝอยละอองลอยจากเครื่องทำฝอยละอองด้านหลังมายังหน้ากากด้านหน้า
- นั่งตัวตรงในท่าสบาย ๆ บนเก้าอี้ สวมหน้ากากให้พอดีกับใบหน้า และควรพ่นยาในท่านั่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก อาจให้เด็กนั่งลงบนตักของผู้ปกครองแทน
- ค่อย ๆ หายใจเข้าลึก ๆ และควรกลั้นหายใจไว้ 2-3 วินาทีก่อนปล่อยลมหายใจออกมา เพื่อช่วยให้ยาเข้าไปในทางเดินหายใจได้ลึกขึ้น
- สูดดมยาต่อไปจนกว่ายาในเครื่องทำฝอยละอองจะหมด เมื่อยาหมด เครื่องพ่นยาจะส่งเสียงดังเป็นช่วง ๆ ซึ่งจะมียาเหลืออยู่ในเครื่องทำฝอยละอองในปริมาณน้อยมาก
- หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือกระวนกระวายใจ ให้หยุดสูดดมยาและนั่งพักประมาณ 5 นาที จากนั้นให้ลองสูดดมยาอีกครั้ง โดยพยายามหายใจอย่างช้า ๆ หากอาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อหาสาเหตุและทางแก้ไขต่อไป
- หากมียาติดอยู่ด้านข้างของเครื่องทำฝอยละออง ให้เขย่าตัวเครื่องเบา ๆ เพื่อช่วยให้ยาหลุดออก
ทั้งนี้ Nebulizer แบบพกพามีหลักการใช้ไม่ต่างจาก Nebulizer สำหรับใช้ที่บ้านมากนัก แต่เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดเล็ก ผู้ใช้จึงอาจถือเครื่องด้วยมือได้โดยไม่ต้องวางไว้ อีกทั้งยังใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กไฟในระหว่างที่ใช้เครื่อง
วิธีทำความสะอาดเครื่อง Nebulizer
ผู้ใช้ควรล้างเครื่องพ่นยาหลังจากใช้งานทุกครั้ง และฆ่าเชื้อเครื่องพ่นยาทุก ๆ 3 วัน เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยมีวิธีการ ดังนี้
- การล้างอุปกรณ์ต่าง ๆ ถอดหน้ากากและเครื่องทำฝอยละอองออกจากตัวเครื่องอัดอากาศ แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและน้ำยาล้างจานสูตรอ่อน ๆ จากนั้นจึงนำมาตากบนผ้าสะอาดและปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง โดยไม่จำเป็นต้องถอดท่อคอมเพรสเซอร์ออกมาล้างทำความสะอาดด้วย
- การฆ่าเชื้อ ถอดหน้ากากและเครื่องทำฝอยละอองออกจากตัวเครื่องอัดอากาศ แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่แพทย์แนะนำให้ใช้ หากไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ ให้ล้างด้วยน้ำผสมกับน้ำส้มสายชูแทน โดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ส่วนต่อน้ำอุ่น 3 ส่วน จากนั้นให้แช่น้ำยาฆ่าเชื้อทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือตามเวลาที่ระบุไว้บนฉลาก เมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว ให้นำมาล้างด้วยน้ำอุ่นอีกครั้งและตากไว้บนผ้าสะอาดแล้วปล่อยให้แห้ง
นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรเปลี่ยนท่อคอมเพรสเซอร์ใหม่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคด้วย