Overfeeding คือ การที่ทารกดื่มนมมากเกินไปจนระบบย่อยอาหารไม่สามารถย่อยนมที่ดื่มเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายท้องและอาจแหวะนมออกมา โดยเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กที่ดื่มนมจากเต้าและดื่มนมจากขวดนม ซึ่งภาวะนี้มีวิธีสังเกตและป้องกันอย่างไรบ้าง คุณแม่มือใหม่สามารถศึกษาได้จากบทความนี้
Overfeeding เกิดจากอะไร ?
โดยปกติทารกมักดื่มนมเมื่อรู้สึกหิว และจะหยุดดื่มไปเองเมื่อรู้สึกอิ่ม การดื่มนมมากเกินจำเป็นจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ทารกที่ดื่มนมจากขวดจะมีแนวโน้มเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าทารกที่ดื่มนมจากเต้านมของแม่ เพราะขวดนมจะช่วยให้คุณแม่ทราบปริมาณนมที่ทารกดื่มอย่างชัดเจน แต่คุณแม่บางคนที่เป็นกังวลว่าทารกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็อาจพยายามป้อนนมให้ลูกดื่มจนหมดขวด นอกจากนี้ โดยปกติแล้วทารกจะดูดนมจากขวดนมได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการดูดนมจากเต้า ทำให้อาจได้รับนมในปริมาณมากเกินไปได้เมื่อดื่มนมจากขวดนม ส่วนเด็กที่ดื่มนมผงอาจเสี่ยงต่อภาวะ Overfeeding มากกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ เพราะลำไส้ของเด็กทารกสามารถดูดซึมนมแม่เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้มากกว่านมชนิดอื่น
นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพของแม่ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้ทารกมีภาวะ Overfeeding ได้ เช่น คุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจึงอาจหลงลืมบ่อยและย้ำคิดย้ำทำจนทำให้ป้อนนมทารกบ่อยเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจใช้การป้อนนมเพื่อทำให้ลูกหยุดร้องไห้ เมื่อไม่สามารถรับมือกับลูกน้อยที่กำลังงอแงได้ เป็นต้น
อาการ Overfeeding เป็นอย่างไร ?
คุณแม่อาจสังเกตได้ว่าทารกดื่มนมมากเกินไปจากอาการดังต่อไปนี้
- แหวะนมมากกว่าปกติ และอาจถ่ายเหลวร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากทารกไม่ได้ดื่มนมมากเกินไปแต่กลับแหวะนมออกมา พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
- ร้องไห้งอแง เพราะการดื่มนมมากเกินไปอาจทำให้ทารกท้องอืดหรือรู้สึกไม่สบายท้อง แต่การร้องไห้ก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น ไม่สบาย ง่วงนอน หรืออาการโคลิค เป็นต้น
ป้องกัน Overfeeding ได้อย่างไร ?
เพื่อป้องกันทารกเกิดภาวะ Overfeeding คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หยุดป้อนนมทันทีหากเด็กแสดงสัญญาณว่ารู้สึกอิ่ม เช่น เบือนหน้าหนี ปัดขวดนม แสดงอาการไม่พอใจ ดูดนมช้าลง หรือเว้นช่วงการดูดนมนานขึ้น เป็นต้น
- พยายามให้ทารกดื่มนมจากเต้าจนกว่าจะถึงเวลาหย่านมที่เหมาะสม ซึ่งช่วงเวลาในการหย่านมมักแตกต่างกันไปในแต่ละราย
ปริมาณนมที่ทารกต้องการในแต่ละวัน
เพื่อป้องกันปัญหา Overfeeding คุณแม่ควรทราบถึงปริมาณการดื่มนมที่เหมาะสม โดยอาจแตกต่างกันไปตามความต้องการดื่มนมของทารกแต่ละคน แต่โดยเฉลี่ยแล้วทารกที่ดื่มนมแม่มักต้องการดื่มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ส่วนทารกที่ดื่มนมจากขวดมักดื่มนมในปริมาณ 60-90 มิลลิลิตร ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หากคุณแม่มือใหม่ยังไม่มั่นใจเรื่องการป้อนนมให้เจ้าตัวน้อย ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงหลักการป้อนนมที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาการที่ดีของทารกและป้องกันการดื่มนมมากเกินไปจนเกิดภาวะ Overfeeding หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรผสมธัญพืช น้ำผลไม้ หรืออาหารเสริมชนิดใด ๆ ลงในนมที่ให้ทารกอายุไม่ถึง 6 เดือนดื่ม เพราะน้ำนมแม่หรือนมผงนั้นมีสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของทารกอยู่แล้ว และหากสังเกตเห็นว่าทารกดื่มนมได้น้อยกว่าปกติหรือมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม