Acnes หรือพี-แอคเน่ ย่อมามาจาก Propionibacterium acnes หรือบางคนจะรู้จักในชื่อของ C. acnes (Cutibacterium acnes) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งในรูขุมขนของมนุษย์ หากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เติบโตหรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากสาเหตุบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดสิว
จริง ๆ แล้วสิวเป็นภาวะที่มีปัจจัยร่วมมากมาย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิว คือ P. acnes ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ให้มากขึ้นอาจช่วยให้ดูแลผิวได้อย่างเหมาะสมและบรรเทาปัญหาสิวได้
รู้จัก P. acnes เพื่อเข้าใจปัญหาสิวให้มากขึ้น
P. acnes อาศัยอยู่ในรูขุมขนตามธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงาน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้รูขุมขนเกิดการอักเสบเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสิวอักเสบตามมา
นอกจากนี้ สิวอักเสบอาจมีต้นตอจากมาจากสิวอุดตัน โดยสิวอุดตันเกิดจากการอุดตันของไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่ง P. acnes จะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อเกิดไขมันอุดตันในรูขุมขน จึงนำไปสู่กลไกการอักเสบของสิวในข้างต้น ด้วยเหตุนี้ คนที่มีสภาพผิวมันจากสาเหตุต่าง ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อ P. acnes และเกิดสิวอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวได้ เพียงแค่ทราบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสิวเท่านั้น โดยอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม อาหาร ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเป็นสิวจึงไม่ได้หมายความว่าคนนั้นไม่รักษาความสะอาดหรือสกปรก
อีกทั้งการล้างหน้ามากเกินหรือสครับผิวบ่อยเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดสิวได้เช่นกัน คนที่เป็นสิวจึงควรศึกษาวิธีทำความสะอาดผิวอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผิวไม่แห้งหรือมันจนเกินไป ลดความเสี่ยงของสิวเกิดใหม่และการติดเชื้อจากแบคทีเรียซ้ำซ้อน
วิธีรับมือกับ P. acnes ตัวช่วยสำหรับคนเป็นสิว
การควบคุมจำนวนและการเติบโตของเชื้อ P. acnes อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสิวได้ โดยสามารถทำได้หลายวิธี
1. ล้างหน้าให้ถูกวิธี
คนเป็นสิวและคนผิวมันมักมีความมันสะสมบนใบหน้ามากกว่าคนทั่วไป จึงพยายามกำจัดความมันส่วนเกินด้วยการล้างหน้าให้มากขึ้น แต่การล้างหน้าบ่อยเกินไปหรือล้างหน้ามากกว่า 2 ครั้งต่อวัน อาจทำให้ผิวอ่อนแอและไวต่อสิวมากยิ่งขึ้น
การปรับวิธีล้างหน้าใหม่อาจช่วยให้ปัญหาผิวดีขึ้นได้ โดยทั่วไปควรล้างหน้าวันละ 2 ครั้งในช่วงเช้าและก่อนเข้านอน หากวันไหนทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมากหรือสัมผัสกับสิ่งสกปรกมากกว่าปกติ อย่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมนอกสถานที่ สามารถเพิ่มจำนวนครั้งในการล้างหน้าได้ตามความเหมาะสม
2. เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
การเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผิวที่เป็นสิว ทั้งจาก P. acnes และสาเหตุอื่น จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงผิว และลดโอกาสการเกิดสิวซ้ำ โดยอาจเลือกตามวิธีต่อไปนี้
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน โดยให้เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก และเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันได้ง่ายขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้อาจเขียนบนฉลากไว้ว่า ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือ Non Comedogenic
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและทำความสะอาดผิวได้อย่างล้ำลึก แทนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสบู่ฤทธิ์แรงซึ่งมักทำให้หน้าแห้งเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวอ่อนแอและผลิตน้ำมันมากขึ้นได้
- เลือกครีมบำรุงผิวที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และไม่ผสมสารก่อระคายเคือง อย่างน้ำหอม สี และสารกันเสีย
หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ควรหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สอบถามพนักงานขายหรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง สำหรับคนที่ต้องการใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับการรักษาสิวโดยเฉพาะ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้ เพราะผลิตภัณฑ์รักษาสิวอาจผสมตัวยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หากใช้ผิดวิธี
3. ไม่แกะ กด เกาสิว
แม้ว่าตุ่มนูนของสิวจะรบกวนจิตใจและความมั่นใจ แต่การกดสิวเพื่อหวังให้สิวยุบหรือเผลอแกะเกาสิวโดยไม่รู้ตัว อาจทำให้รูขุมขนและผิวหนังที่เป็นสิวอักเสบรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งนิ้วมือและเล็บมือเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคหลายชนิด เมื่อนำมาสัมผัสกับแผลสิวก็อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้
ด้วยเหตุนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนสิว สัมผัสกับผิวที่เป็นสิวให้น้อยที่สุด และล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสิวเสมอ นอกจากนี้ ไม่ควรสครับผิวขณะที่เป็นผิวหรือเกิดสิวอักเสบ รวมถึงผลัดเซลล์ผิวเกินความจำเป็นเพราะจะทำให้อาการสิวรุนแรงขึ้นได้เช่นกัน
4. ปรึกษาแพทย์
สิวเป็นปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บางคนอาจเกิดขึ้นและหายเองได้ แต่ผู้ที่เป็นสิวเรื้อรังอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพราะปัญหาสิวของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และอาจไม่ได้เป็นจาก P. acnes เสมอ ซึ่งแพทย์จะช่วยประเมินสาเหตุและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
5. ใช้ยาตามแพทย์สั่ง
การรักษาปัญหาสิวเรื้อรัง ทั้งจาก P. acnes และสาเหตุอื่น อาจต้องใช้เวลาในการรักษามากน้อยแตกต่างกัน ในเบื้องต้นแพทย์อาจสั่งจ่ายรักษาสิวรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาทา ยากิน หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้กับคนที่เป็นสิวเรื้อรัง โดยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ควรปรึกษาแพทย์
ในกรณีที่สิวเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาฆ่าเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาจนส่งผลให้อาการรุนแรงและยากต่อการรักษามากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีวิธีรักษาสิวอีกหลายวิธีที่แพทย์อาจแนะนำ
P. acnes ไม่ใช่เชื้อโรคชนิดเดียวที่ส่งผลให้เกิดสิว แต่ยังมีเชื้อชนิดอื่น ๆ อาทิ เชื้อ Corynebacterium Granulosum เชื้อ Staphylococcus Epidermidis และเชื้อ Malassezia ทำให้การรักษาสิวอาจต่างกันตามแต่ละสาเหตุและปัจจัย การไปพบแพทย์อาจเป็นวิธีรับมือกับสิวเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด