Palliative Care หรือการดูแลแบบประคับประคอง เป็นวิธีการดูแลที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงอันตรายถึงชีวิตและไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลวรุนแรง โรคมะเร็งที่แพร่กระจาย โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคไปจนถึงช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต รวมทั้งดูแลความรู้สึกของครอบครัวหลังการจากไปของผู้ป่วย
เป้าหมายของ Palliative Care คือการลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยจะให้การรักษาควบคู่กับการรักษาหลัก เช่น การผ่าตัด การฉายรังสีและเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งนี้ การดูแลแบบประคับประคองจะอาศัยการทำงานร่วมกันของแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ และที่ปรึกษาด้านอื่น ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยและให้คำแนะนำแก่ครอบครัวของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ง
Palliative Care คืออะไรและสำคัญอย่างไร
Palliative Care ไม่ใช่การดูแลผู้ป่วยเมื่อรู้สึกหมดหวังในการรักษา แต่เป็นการดูแลควบคู่ไปกับการรักษาหลัก แม้จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด แต่ Palliative Care จะช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและชะลอไม่ให้อาการทรุดลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสร้างความเข้าใจ การเตรียมตัว และการยอมรับเกี่ยวกับการตายเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวกลัวหรือกังวลน้อยที่สุดเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
Palliative Care จะใช้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงที่อาจรักษาไม่หายขาด มีแนวโน้มที่อาการจะทรุดลงหรือเสียชีวิตจากโรค เช่น โรคหัวใจล้มเหลวรุนแรง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งระยะลุกลาม โรคปอดเรื้อรังบางชนิด โรคตับระยะท้าย ไตวายที่ไม่ได้ล้างไต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเลือดและไขกระดูก และโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่หายขาด อย่างพาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ระยะท้าย
ทั้งนี้ การดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและญาติด้วย ซึ่งจะตัดสินใจรายละเอียดในการดูแลร่วมกับทีมแพทย์ โดยอาจดูแลที่บ้านของผู้ป่วย โรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้ป่วยอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเลือกรับการรักษาที่บ้าน จะมีการช่วยวางแผนและประสานงานให้แพทย์ พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมบ้านต่อไป
Palliative Care สามารถเริ่มดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรค ซึ่งแตกต่างจาก Hospice Care หรือการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่เริ่มดูแลผู้ป่วยหลังจากแพทย์หยุดการรักษา เนื่องจากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและทราบระยะเวลาชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต ซึ่ง Hospice Care มักจะเริ่มดูแลหลังจากแพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน
Palliative Care ดูแลผู้ป่วยอย่างไร
Palliative Care จะดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านร่างกาย โดยดูแลอาการทางกายที่พบในผู้ป่วย เช่น อาการเจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หายใจลำบาก ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
- ด้านสภาวะอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ซึมเศร้า ความกลัวของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งดูแลความเศร้าเสียใจของครอบครัวเมื่อถึงวาระสุดท้ายของผู้ป่วย โดยอาจให้ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ ฝึกผ่อนคลาย นวด และพูดคุยกับนักจิตบำบัด
- ด้านจิตวิญญาณ คือการดูแลผู้ป่วยตามความเชื่อ แนวทางในการใช้ชีวิต รวมถึงความเชื่อทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ ทำบุญ และการเทศนาของนักบวช เพื่อให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และเข้าใจความหมายของชีวิต
- ด้านสังคม เช่น ดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและบุคคลรอบตัว รวมถึงพ่อแม่ผู้ป่วย สามี ภรรยา ลูก หรือคนในครอบครัว เพื่อลดความเครียดในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งช่วยจัดหาผู้ดูแลและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วย
- ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจอาการของโรคและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา
- การวางแผนการดูแลล่วงหน้า และทำหนังสือแสดงเจตนา (Living Will) ซึ่งเป็นหนังสือแสดงความปรารถนาและเป้าหมายของผู้ป่วยเพื่อให้คนในครอบครัวหรือคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงการวิธีการรักษาและการดูแลในช่วงระยะท้าย ๆ ของชีวิต
- ด้านอื่น ๆ เช่น ติดต่อผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษา การจัดสถานที่สำหรับรักษา เช่น ที่บ้านของผู้ป่วยหรือโรงพยาบาล รวมทั้งที่ปรึกษาในการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย เช่น เอกสารประกันชีวิต หนังสือมอบอำนาจ
ผู้ป่วยและครอบครัวควรพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้และบุคลากรที่ให้การดูแลเพื่อรับทราบถึงอาการของโรค วิธีการรักษา ผลที่จะเกิดตามมา และร่วมกันวางแผนการรักษา โดยสอบถามผู้ป่วยว่าต้องการการดูแลรักษาแบบใดบ้าง ต้องการอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล หรือผสมผสาน และสถานที่สุดท้ายที่ต้องการอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น
หากเลือกดูแลรักษาตัวที่บ้าน ผู้ดูแลควรขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รวมทั้งฝึกทักษะการดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น การให้อาหาร การให้ยา การจัดเตรียมที่พักให้เอื้อต่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย และเตรียมเบอร์โทรศัพท์ที่จะให้คำปรึกษาในการรักษาตัวที่บ้านเพื่อติดต่อกรณีฉุกเฉิน
การป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงจิตใจและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วย Palliative Care จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยและครอบครัวทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ อีกทั้งยังช่วยลดความกังวลเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวก้าวผ่านช่วงท้ายของชีวิตได้อย่างสุขสงบ