Pansexual กลุ่มคนที่มองว่าเพศไม่ใช่ปัจจัยในความรัก

Pansexual คือรสนิยมทางเพศรูปแบบหนึ่งที่หมายถึงคนที่รู้สึกรักและดึงดูดคนได้ทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ โดยมาจากคำว่า Pan ซึ่งเป็นภาษากรีกที่แปลว่า “ทั้งหมด” อย่างไรก็ดี การชอบคนได้ทุกรูปแบบนั้นไม่ได้หมายความว่า Pansexual จะชอบทุกคนที่พบเจอ แต่หมายถึงความรู้สึกที่เปิดกว้างมากขึ้น และเพศไม่ใช่ปัจจัยในการชอบใครสักคน

Pansexual และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มที่จะปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิดและชอบเพศตรงข้าม เนื่องจากอาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อน และสังคมที่ทำงาน ทำให้เกิดความเครียด และรู้สึกแปลกแยก การทำความเข้าใจและการเคารพในรสนิยมทางเพศของผู้ที่เป็น Pansexual จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

Pansexual กลุ่มคนที่มองว่าเพศไม่ใช่ปัจจัยในความรัก

รู้จัก Pansexual

ในปัจจุบันที่สังคมตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง Pansexual เป็นรสนิยมทางเพศอีกรูปแบบหนึ่งที่สื่อถึงบุคคลที่ดึงดูดผู้คนได้ทุกรูปแบบ คนกลุ่มนี้อาจเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ตาบอดทางเพศ นั่นคือไม่ได้สนใจว่าอีกฝ่ายจะมีเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และความสนใจทางเพศเป็นแบบใด จึงไม่ได้ใช้เรื่องเพศมาตีกรอบในการเลือกรักใครสักคน

ทั้งนี้ การรู้สึกดึงดูดคนทุกเพศของ Pansexual ไม่ได้หมายความว่าจะชอบทุกคน เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่มีความสนใจในเพศตรงข้ามก็ไม่ได้รู้สึกชอบเพศตรงข้ามทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังนั้น สิ่งที่ควรเข้าใจคือ Pansexual เป็นรสนิยมทางเพศที่เปิดกว้างโดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะเป็นเพศอะไร แต่เลือกจากความรู้สึกดึงดูดและความเข้ากันได้ของคนสองคน 

ผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึง Pansexual มักค้นพบรสนิยมทางเพศของตัวเองเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มสนใจความรัก อย่างไรก็ตาม รสนิยมและแรงดึงดูดทางเพศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากวันหนึ่งพบว่าความสนใจของตัวเองเปลี่ยนไปถือเป็นเรื่องปกติ และรสนิยมทางเพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าจะมีความสัมพันธ์แบบผูกมัด (Committed Relationship) หรือไม่

ความแตกต่างระหว่าง Pansexual และ Bisexual

Pansexual และ Bisexual รู้สึกดึงดูดต่อคนมากกว่า 1 เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และความสนใจทางเพศ แต่ Pansexual จะมีขอบข่ายที่กว้างกว่า เพราะเป็นบุคคลที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งเรื่องเพศ และสามารถรักคนได้ทุกรูปแบบ แต่ Bisexual จะหมายถึงบุคคลที่สามารถมีความรักได้กับคนที่มีเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามกับตนเอง ซึ่งมาจากคำว่า Bi ที่แปลว่าสอง

ผลกระทบที่ Pansexual ต้องแบกรับ

แม้สังคมปัจจุบันจะยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ Pansexual และกลุ่ม LGBTQ+ หลายคนอาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน และคนที่ทำงาน นอกจากนี้ Pansexual อาจถูกมองว่าชอบได้ทุกคน โลเล ไม่รักเดียวใจเดียว และมีแนวโน้มที่จะนอกใจคู่ของตัวเองมากกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่เป็นความจริง

การเผชิญกับอคติจากคนในสังคมอาจทำให้ Pansexual เสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าคนเพศอื่น ๆ เช่น

  • การเลือกปฏิบัติจากคนรู้จัก ครอบครัว และคนในที่ทำงาน ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) และรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น
  • การถูกกลั่นแกล้ง (Bully) คุกคาม และใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีข้อมูลระบุว่า Pansexual อาจถูกทำร้ายจากคู่ครองของตนมากกว่าคนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด
  • คู่นอนไม่ถามความยินยอมและความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Consent) เพราะความเปิดกว้างในการเลือกคู่ของ Pansexual ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าสามารถเพศสัมพันธ์กับคนอื่นได้ง่าย จึงทำให้เกิดการบังคับฝืนใจในการมีเพศสัมพันธ์โดยผู้ที่เป็น Pansexual ไม่ต้องการและไม่ยินยอม

การสนับสนุนเมื่อ Pansexual เลือกที่จะเปิดเผยตัวตน

ผู้ที่เป็น Pansexual ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศหรือเปิดตัว (Come Out) ให้ผู้อื่นรู้ถึงรสนิยมทางเพศ เพราะบางคนอาจรู้สึกสะดวกใจที่จะไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ แต่หากรู้สึกว่าการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองทำให้รู้สึกสบายใจกว่า อาจเริ่มจากการบอกคนที่ไว้วางใจ เช่น เพื่อนสนิท โดยอธิบายความรู้สึกเพื่อให้คนที่ยังไม่รู้จักรสนิยมทางเพศรูปแบบนี้เข้าใจว่า Pansexual เป็นอย่างไร

ฝ่ายผู้ที่รับฟังควรตระหนักถึงสิทธิและเคารพในรสนิยมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะ Pansexual เป็นเพียงรสนิยมที่แตกต่าง ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตและไม่ได้จัดเป็นความผิดปกติทางจิตที่ต้องรักษา หากคนในสังคมให้การยอมรับและช่วยหันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะช่วยให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ปลอดภัย และไม่ตกเป็นเป้าของการเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ หากผู้ที่เป็น Pansexual รู้สึกเครียดและไม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง หรือต้องการทราบข้อมูลการดูแลสุขภาวะทางเพศและสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ สามารถขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น 

  • คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) โดยสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. 5 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง
  • คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-15.30 น. เบอร์โทร 0-2256-5286 และ 0-2256-5298
  • Gen V Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เบอร์โทร 0-2201-2799