Pap Smear (Pap Test) หรือแปปสเมียร์ เป็นหนึ่งในขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โดยจะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกเพื่อนำมาหาความผิดปกติ ซึ่งถือเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย ประหยัดเวลา และมีราคาไม่สูง
การเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์เป็นประจำอาจช่วยให้พบเซลล์ผิดปกติที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง อีกทั้งจะเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที โดยปกติแล้ว การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไปหรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ และควรเข้ารับการตรวจบ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
Pap Smear ควรตรวจบ่อยแค่ไหน ?
แปปสเมียร์สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยในช่วงอายุดังกล่าวอาจเข้ารับการตรวจทุก 3 ปี ไปจนกระทั่งอายุ 29 ปี แต่ผู้ที่มีอายุ 30-65 ปี หากผลการตรวจไม่พบว่าเจอเซลล์ผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจทุก 3-5 ปี ร่วมกับการตรวจเชื้อเอชพีวี สำหรับการตรวจหลังจากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการตรวจด้วยวิธีนี้
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงบางประการเข้ารับตรวจถี่กว่าคนทั่วไป ได้แก่
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่ตรวจพบเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก
- ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ยาเคมีบำบัด เคยเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
- ผู้ที่ตั้งครรภ์และเคยมีประวัติทารกตายตลอด (Stillbirth)
- ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) ร่วมกับผ่าตัดปากมดลูกออกไป และไม่เคยมีประวัติโรคมะเร็งปากมดลูกอาจไม่มีความจำเป็นในการตรวจ Pap Smear แต่หากรู้สึกกังวลอาจปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจได้
Pap Smear มีขั้นตอนตรวจอย่างไร ?
ก่อนเข้ารับการตรวจ แพทย์หรือพยาบาลจะกำหนดวันตรวจและแนะนำการเตรียมตัวก่อนการตรวจเพื่อให้ผลการตรวจนั้นคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด เช่น ในช่วง 1-2 วันก่อนเข้ารับการตรวจควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และงดการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด ยา ครีม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องสอดหรือทาบริเวณช่องคลอด หลีกเลี่ยงการสวนล้างหรือฉีดน้ำเข้าไปภายในช่องคลอด หากอยู่ในช่วงมีประจำเดือนควรโทรแจ้งทางโรงพยาบาลเพื่อขอเลื่อนนัดไปก่อน เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจ Pap Smear หรือ Pap Test จะเริ่มจากผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ เพื่อความสะดวกในการตรวจ หลังจากเปลี่ยนชุดเรียบร้อย แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเตียงที่คล้ายกับเตียงสำหรับการตรวจภายในแบบอื่น ๆ ขั้นตอนต่อไป แพทย์จะสอดเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นบริเวณปากมดลูกได้อย่างชัดเจน และใช้อุปกรณ์ที่ลักษณะคล้ายไม้พายหรือแปรงขนาดเล็กในการเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก
นอกจากการเก็บตัวอย่างเซลล์ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ส่องกล้องดูความผิดปกติของเซลล์ (Colposcopy) ตรวจหาร่องรอยของเชื้อเอพีวี หรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก (ฺBiopsy) เป็นต้น การตรวจแปปสเมียร์นั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ส่วนใหญ่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่บางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อยในระหว่างตรวจ
ผลการตรวจ Pap Smear
ผลการตรวจแปปสเมียร์ที่ออกมาเป็นลบ (Negative) หมายถึงไม่พบเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก แต่หากผลตรวจออกมาเป็นบวก (Positive) หมายถึงพบเซลล์ผิดปกติในบริเวณดังกล่าว แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นบวกอาจไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคมะเร็งเสมอ เพียงแต่ในทางการแพทย์อาจหมายถึงเซลล์เหล่านั้นอาจมีแนวโน้มกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคตแต่อาจใช้เวลานานหลายปี นอกจากนี้ หากผลการตรวจเป็นบวก แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การตรวจแปปสเมียร์หรือ Pap Test ก็มีความเสี่ยงที่ผลลัพธ์อาจคลาดเคลื่อนได้ ทั้งผลตรวจเป็นบวกหรือผลลบ โดยความคาดเคลื่อนอาจเป็นผลมาจากจำนวนตัวอย่างเซลล์ที่ถูกเก็บไปนั้นไม่เพียงพอ ปริมาณเซลล์ผิดปกติที่ต่ำมาก การอักเสบและความผิดปกติอื่น ๆ ของเซลล์
ดังนั้น ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์ตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู๋ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น นอกเหนือจากการตรวจแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์ผิดปกติและโรคมะเร็งปากมดลูก การดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ เข้ารับการฉีควัคซีนป้องกันเชื้อเอพีวี และการมีสุขอนามัยทางเพศที่ดีก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้อีกทาง