Parsley พืชใบจิ๋ว ประโยชน์แจ๋ว

Parsley หรือพาร์สลีย์เป็นพืชที่มีหน้าตาคล้ายผักชี มีทั้งใบหยักและใบเรียบ มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จึงนิยมนำปรุงอาหารหลากหลายเมนู โดยเฉพาะอาหารตะวันตก ซึ่งนอกจากเรื่องรสชาติและกลิ่นที่โดดเด่นแล้ว พาร์สลีย์ยังมีสรรพคุณที่อาจช่วยในการบำรุงกระดูก ดวงตา หัวใจ และป้องกันโรคมะเร็งด้วย

พาร์สลีย์เป็นผักที่ให้พลังงานค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเค วิตามินเอ วิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด อย่างลูทีน (Lutein) เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) หากอยากทราบว่าเจ้าพืชใบจิ๋วนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้เลย

parsley

4 คุณประโยชน์จาก Parsley

พาร์สลีย์เป็นผักที่มีสารอาหารสูง การบริโภคในปริมาณที่พอดีอย่างสม่ำเสมออาจช่วยบำรุงร่างกายและลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้

1. บำรุงกระดูก

กระดูกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย หากกระดูกเปราะบาง ไม่แข็งแรง หรือมวลกระดูกต่ำก็อาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย การบริโภคผักใบจิ๋วชนิดนี้อาจเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกหรือผู้ที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก เพราะพาร์สลีย์มีปริมาณของวิตามินเคสูงมาก จึงอาจเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกและลดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกได้ในเวลาเดียวกัน

จากการทดลองชิ้นหนึ่งพบว่วิตามินเค 2 อาจช่วยกระตุ้นกระบวนของร่างกายให้สร้างเซลล์ออสติโอบลาสต์ (Osteoblast) หรือเซลล์สร้างกระดูกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาจช่วยส่งเสริมกระบวนแร่ธาตุในกระดูก ดังนั้น การได้รับวิตามินเคอย่างเพียงพอเป็นประจำก็อาจช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกและแร่ธาตุในกระดูกได้ โดยอาจช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกให้ช้าลง ลดความเสี่ยงต่อการเปราะหักของกระดูก และบรรเทาอาการจากโรคกระดูก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับกระดูกควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์ด้วย เนื่องจากวิตามินเคเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการรักษา  

2. บำรุงสายตา

ดวงตานั้นเป็นอวัยวะที่ทำงานแทบตลอดเวลา อีกทั้งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปและมลพิษที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้การมองเห็นมีปัญหาและดวงตาเสื่อม ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการรับประทาน Parsley อาจช่วยบำรุงสายตา เพราะเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณบำรุงสายตา อย่างเบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน โดยเบต้าแคโรทีนจัดเป็นวิตามินเอชนิดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุตาขาวและกระจกตา ส่วนลูทีนและซีแซนทีนนั้นมีการศึกษาพบว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้มีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของดวงตาจากอายุที่มากขึ้น จึงอาจลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก รวมถึงโรคตาชนิดอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงและทำให้ตาบอด

ด้วยประโยชน์ในการบำรุงสายตาของแคโรทีนอยด์ กลุ่มผู้สูงอายุหรือกำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอาจจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารประเภทนี้อย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติบริเวณดวงตา นอกจากนี้ แคโรทีนอยด์ ลูทีนและซีแซนทีนยังอาจช่วยป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้าจากหน้าคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ได้ด้วย ดังนั้น การเพิ่มพาร์สลีย์หรือวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีสารแคโรทีนอยด์และสารอาหารที่ฤทธิ์บำรุงสายตาในมื้ออาหารก็อาจช่วยให้สุขภาพดวงแข็งแรงและการมองเห็นเป็นไปอย่างปกติ

3. บำรุงหัวใจ

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุของโรคนี้คือการรับประทานอาหารที่ไม่ดี ขณะเดียวกัน Parsley อุดมด้วยโฟเลทที่เชื่อกันว่าอาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

เดิมทีสารโฮโมซีสทีน (Homocysteine) เป็นสารที่มีอยู่ภายในร่างกายตามธรรมชาติและจะไม่ส่งผลเสียใด ๆ เมื่ออยู่ในระดับปกติ แต่เมื่อปริมาณของสารชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ความเสี่ยงของโรคหัวใจและภาวะหลอดเลือดแข็งตัวสูงขึ้นด้วย จากการศึกษาพบว่าโฟเลทหรือกรดโฟลิกนั้นมีส่วนช่วยลดปริมาณสารโฮโมซีสทีนภายในร่างกายได้ เมื่อสารโฮโมซีสทีนลดลง ความเสี่ยงของโรคหัวใจก็อาจลดลงตามเช่นกัน

4. ต้านมะเร็ง

โรคมะเร็งอาจเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับหลาย ๆ คน เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่จะรุนแรงแบบเฉียบพลันเมื่อเข้าสู่ระยะหลัง ๆ อีกทั้งยังมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งสารอนุมูลอิสระก็เป็นอีกสาเหตุที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากสารชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เซลล์และพันธุกรรมเกิดความผิดปกติและนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็งได้

การควบคุมและป้องกันความเสียหายของเซลล์จากสารอนุมูลอิสระนั้นจำเป็นต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยสารต้านอนุมูลอิสระนั้นจะเข้าไปปรับการทำงานของสารอนุมูลอิสระให้สมดุลมากขึ้น จึงอาจช่วยชะลอและลดการเกิดความผิดปกติของเซลล์ได้ ซึ่งใน Parsley นั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่โดดเด่นและอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ ดังนี้

  • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
    ฟลาโวนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง สามารถแยกย่อยได้เป็นหลายประเภท โดยฟลาโวนอยด์ที่พบในพาร์สลีย์มีถึง 2 ชนิดด้วยกัน คือ ไมริซีทิน (Myricetin) และอะพิจีนิน (Apigenin) จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการรับประทานฟลาโวนอยด์ในปริมาณที่สูงเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ได้
  • วิตามินซี
    วิตามินซีเป็นวิตามินที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและขึ้นชื่อทั้งในด้านความงามและการบำรุงสุขภาพ รวมถึงการต้านโรคมะเร็งด้วย เนื่องจากโรคมะเร็งมีความเสี่ยงจากการอักเสบและเสียหายของเซลล์ ซึ่งเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือกระบวนการของสารอนุมูลอิสระ จากการทดลองพบว่าวิตามินซีอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้หลายชนิด อีกทั้งผู้ทดลองยังแนะนำว่าควรได้รับวิตามินซีจากการรับประทานผักผลไม้มากกว่าวิตามินซีในรูปแบบอาหารเสริม

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นพบว่าผักใบจิ๋วชนิดนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านเชื้อโรค และบำรุงไต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สรรพคุณเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาจากพาร์สลีย์โดยตรง แต่เป็นการศึกษาชนิดของสารอาหารที่พบมากในผักชนิดนี้เท่านั้น ขณะเดียวกันงานวิจัยบางชิ้นเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพในการบำรุงสุขภาพและป้องกันโรคที่ชัดเจน

แม้ว่าสรรพคุณเหล่านี้จะไม่ได้เป็นศึกษาโดยตรง แต่การบริโภค Parsley ในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ควรล้างทำความสะอาดก่อนนำมารับประทาน เพื่อป้องกันยาฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับผัก รวมทั้งควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในทุกด้าน