Phenobarbital (ฟีโนบาร์บิทัล)

Phenobarbital (ฟีโนบาร์บิทัล)

Phenobarbital (ฟีโนบาร์บิทัล) เป็นยาในกลุ่มยากันชัก และกลุ่มยากดประสาท  ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับในระยะสั้น และช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล ความรู้สึกตึงเครียด ความรู้สึกหวาดกลัวได้  ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางจึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ ผ่อนคลายและหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมักใช้รักษาอาการชักในกรณีฉุกเฉิน และอาจใช้เพื่อรักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย

Phenobarbital

เกี่ยวกับ Phenobarbital

กลุ่มยา ยากันชัก และยานอนหลับ​
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการชัก อาการนอนไม่หลับ และลดความวิตกกังวล
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาฉีด ยาน้ำ


คำเตือนการใช้ยา Phenobarbital

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยเด็ดขาดหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ส่วนประกอบของยา Phenobarbital
  • ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคโพรีเรีย หรือ โรคผีดูดเลือด (Porphyria) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการใช้ยาโซเดียมออกซิเบท (Sodium Oxybate หรือ GHB) ห้ามใช้ยาดังกล่าว
  • สตรีมีครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยา หรืออาหารเสริมอื่น ๆ อยู่ก่อนหน้าควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับยานี้ทุกครั้ง เพราะยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้ เช่น ยาโซเดียมออกซิเบท ยาเมทธอกซีฟลูเรน (Methoxyflurane) ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ยาสเตียรอยด์ ฯลฯ
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรือสารประกอบต่าง ๆ ควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับยา
  • ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับยาหากมีภาวะซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีประวัติติดสารเสพติด
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ หรือโรคระบบทางเดินหายใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด หรืออยู่ในภาวะช็อกควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Phenobarbital

ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

  • ผ่อนคลายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด
    • ผู้ใหญ่ ให้ยา Phenobarbital Sodium ปริมาณ 100-200 มิลลิกรัม 60-90 นาทีก่อนผ่าตัด
    • เด็ก ให้ยา Phenobarbital Sodium ปริมาณ 16-100 มิลลิกรัม 60-90 นาที ก่อนผ่าตัด
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่

ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ผ่อนคลายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด
    • เด็ก ให้ในปริมาณ 1-3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนผ่าตัด

ชนิดให้ทางหลอดเลือด

  • ใช้เป็นยานอนหลับในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ
    • ผู้ใหญ่ เบื้องต้นให้ 100-320 มิลลิกรัม โดยปริมาณที่แนะนำคือ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน  ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่
  • รักษาอาการชักเฉียบพลัน หรือภาวะชักต่อเนื่อง
    • ผู้ใหญ่ ให้ยา Phenobarbital Sodium ปริมาณ 200-600 มิลลิกรัม
    • เด็ก ให้ยาในปริมาณ 4-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน ติดต่อกัน 7-10 วัน หรือให้ในปริมาณ 5-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ หากเป็นการรักษาอาการชักต่อเนื่อง เบื้องต้นให้ในปริมาณ 15-20 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำ โดยใช้ระยะเวลาในการให้ 10-15 นาที
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่

ชนิดรับประทาน

  • รักษาอาการชักเฉียบพลัน หรือภาวะชักต่อเนื่อง
    • ผู้ใหญ่ รับประทาน 100-300 มิลลิกรัมก่อนนอน
    • เด็ก ครั้งแรกให้รับประทาน 15-20 มิลลกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณที่แนะนำเมื่อรักษาต่อเนื่อง คือ 3-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่
  • ใช้เป็นยานอนหลับในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ
    • ผู้ใหญ่ รับประทาน 100-320 มิลลิกรัม ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ปริมาณที่แนะนำคือ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่
  • ผ่อนคลายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด
    • เด็ก ให้ในปริมาณ 1-3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนผ่าตัด
  • ใช้ในการระงับประสาท
    • ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 30-120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน
    • เด็ก รับประทานวันละ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 180 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง
    • ผู้สูงอายุ ให้ในปริมาณที่ลดลงจากปริมาณของผู้ใหญ่

การใช้ยา Phenobarbital

ยา Phenobarbital เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ถ้าเป็นชนิดรับประทานจะต้องรับประทานตามที่แพทย์กำหนด ถ้าเป็นยาชนิดฉีดจะต้องได้รับภายในสถานพยาบาลเท่านั้น หรือหากได้รับอนุญาตให้ใช้ที่บ้าน ผู้ใช้ยาจะต้องได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้อย่างละเอียด เพื่อป้องกันผลไม่พึงประสงค์ที่อาจตามมาได้

ยาชนิดนี้เป็นยาอันตราย ควรระมัดระวังในการใช้โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากไม่มีผลการยืนยันเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพในการใช้ยานี้

ก่อนใช้ยาผู้ป่วยควรสังเกตลักษณะของยาให้ดี หากบรรจุภัณฑ์ของยามีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น ขวดแตกหรือเสียหาย ตัวยาชนิดฉีดมีสีขาวขุ่น สีเปลี่ยนแปลงจากเดิม ควรเปลี่ยนไปใช้ขวดใหม่ และควรเก็บอุปกรณ์ในการใช้ยา เช่น เข็มฉีดยาให้สะอาดและปลอดภัย

ในการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หากลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานโดยทันที แต่ถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้รอรับประทานครั้งต่อไปทีเดียวโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทน

นอกจากนี้ ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่ไม่ปลอดภัย เช่น การทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น

ในระหว่างการรักษาด้วยยาดังกล่าว ตัวยาจะส่งผลต่อการคุมกำเนิด ดังนั้น เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัย และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการคุมกำเนิดระหว่างการรักษาไปพร้อม ๆ กันด้วย

ขณะที่สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวเนื่องจากยาชนิดนี้จะส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารกได้ ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจสามารถใช้ยานี้ต่อไปได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการเสพติด และหากหยุดในยากะทันหันก็อาจทำให้เกิดอาการขาดยา ซึ่งจะแสดงอาการดังต่อไปนี้ คือ มีอาการวิตกกังวล ชัก วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือและนิ้วสั่นผิดปกติ สายตาผิดปกติ และอาเจียน ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงของยา Phenobarbital

แม้ยาชนิดนี้จะค่อนข้างปลอดภัยแต่ก็เป็นยาที่มีผลข้างเคียงควรต้องระมัดระวัง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มักไม่ค่อยพบอาการที่เกิดจากการใช้ยา หรือหากเกิดก็เกิดขึ้นไม่รุนแรงมากนัก ทั้งนี้หากผู้ป่วยพบอาการที่ส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันอันเกิดขึ้นจากยา Phenobarbital ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยอาการที่อาจพบได้แก่

  • อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย สับสน
  • ซุ่มซ่ามผิดปกติ
  • รู้สึกมึนงง เชื่องช้า และซึมลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน มีอาการเดินเซ
  • รู้สึกง่วงในระหว่างวันมากผิดปกติ
  • ปวดศีรษะ 
  • ความดันโลหิตต่ำ 
  • หัวใจเต้นช้า
  • หายใจช้าลง หรือหยุดหายใจ
  • เกิดอาการผิดปกติที่บริเวณที่ฉีดยา

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติรุนแรงเหล่านี้อันได้แก่ มีอาการแพ้อย่างรุนแรง หายใจไม่ออก หรือตับถูกทำลาย หรืออาการอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย