ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)

ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)

Pseudoephedrine (ซูโดเอฟีดรีน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก (Decongestant) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในจมูกหดตัว ทำให้สามารถช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก จมูกอุดตันจากไซนัสอักเสบ และช่วยให้รู้สึกหายใจสะดวกขึ้นได้ นอกจากนี้ ยาชนิดนี้อาจใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น อาการไข้หวัด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบได้ด้วย

ยา Pseudoephedrine ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน มีทั้งชนิดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และชนิดที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งการใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ

Pseudoephedrine

เกี่ยวกับยา Pseudoephedrine

กลุ่มยา ยาแก้คัดจมูก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่สามารถหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ บรรเทาอาการคัดจมูก แน่นจมูก จมูกอุดตัน
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ รวมถึงผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กทารกที่รับประทานนมแม่ 
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Pseudoephedrine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา Pseudoephedrine ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยา Pseudoephedrine ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ รวมถึงผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ายา Pseudoephedrine สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคต้อหิน หรือมีเนื้องอกต่อมหมวกไต (Phaeochromocytoma) ซึ่งอาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หรือภาวะต่อมลูกหมากโต ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
  • ไม่ควรใช้ยา Pseudoephedrine ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี
  • ไม่ควรใช้ยา Pseudoephedrine ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 7 วัน
  • ในระหว่างการใช้ยาควรลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม

ปริมาณการใช้ยา Pseudoephedrine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Pseudoephedrine ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Pseudoephedrine มีดังนี้

อาการคัดจมูก

ตัวอย่างการใช้ยา Pseudoephedrine เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก 

เด็กอายุ 4–6 ปี รับประทานยา 15 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 60 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานยา 30 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 120 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา 60 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 240 มิลลิกรัม หากรับประทานยาชนิดที่ออกฤทธิ์นาน ควรรับประทานยา 120 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือ 240 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 240 มิลลิกรัม

การใช้ยา Pseudoephedrine

แพทย์จะสั่งจ่ายยาโดยพิจารณาตามอาการของโรคเป็นหลัก ร่วมกับพิจารณาเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อายุ ประวัติการแพ้ยา และการตอบสนองของผู้ป่วย ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานเกินคำสั่งของแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อยา โดยผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่า 7 วัน แต่หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หลังจากการใช้ควรไปปรึกษาแพทย์

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกขึ้นได้ตอนใกล้กับเวลารับประทานยามื้อถัดไปให้รับประทานยาในครั้งถัดไปเพียงครั้งเดียว และควรเก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20–25 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และแสง เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้

ปฏิกิริยาระหว่างยา Pseudoephedrine กับยาอื่น

ยา Pseudoephedrine อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ยาเมทิลโดปา (Methyldopa) 
  • ยารักษาโรคไมเกรนในกลุ่มเออร์กอต (Ergots) เช่น ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)
  • ยารักษาภาวะหัวใจวายกลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ (Cardiac Glycoside) เช่น ยาไดจอกซิน (Digoxin)
  • ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่ม MAOIs และกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCA)  เช่น ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
  • กลุ่มยาแก้ปวด ยาแก้ไข้หวัด หรือยารักษาอาการคัดจมูกตัวอื่น

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Pseudoephedrine เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pseudoephedrine

การใช้ยา Pseudoephedrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในผู้ป่วยบางราย โดยบางอาการก็เป็นผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน 

รวมถึงหากมีอาการผิดปกติรุนแรงเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วและแรง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน
  • วิตกกังวล ไม่สบายใจ หงุดหงิด กระสับกระส่าย หรือนอนไม่หลับ
  • เกิดรอยฟกช้ำ หรือมีแผลที่เกิดเลือดออกได้ง่าย
  • มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อาการของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง สายตาพร่ามัว มีเสียงดังรบกวนในหู สับสนมึนงง ปวดหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือมีอาการชัก
  • อาการแพ้ยาเช่น เกิดลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอบวม