Serotonin (เซโรโทนิน) สารเคมีแห่งความสุข ความเศร้า และสุขภาพ

Serotonin หรือเซโรโทนิน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งภายในร่างกายที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ อีกทั้ง Serotonin ยังจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายส่วนอื่นด้วย หากเรามี Serotonin ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพจิตดี อารมณ์ดี มีสมาธิ ช่วยให้คิดและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น  

แต่หากระดับ Serotonin ขาดสมดุล ไม่ว่าจะน้อยหรือมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทางร่างกายและจิตใจตามมา บทความนี้ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับ Serotonin ทั้งด้านของประโยชน์ ผลกระทบ และวิธีรักษาระดับ Serotonin ให้สมดุลมาให้ทุกคนได้อ่านกัน

Asian,Beautiful,Woman,Happy,And,Smile,Sitting,On,Bed,With

Serotonin กับสุขภาพจิตและสมอง

คนที่คุ้นเคยกับปัญหาสุขภาพจิตและสมองอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ Serotonin กันมาบ้าง เพราะสารชนิดนี้มีส่วนสำคัญต่อระบบประสาท หากมีระดับ Serotonin ที่สมดุลจะช่วยปรับความรู้สึกและมีผลต่ออารมณ์ไปในทางบวก เช่น ความสุข ความสงบ ใจเย็น มีสมาธิ อารมณ์คงที่ไม่หวั่นไหวง่าย รวมทั้งยังช่วยให้เรามีความสุขหรือรู้สึกดีได้ง่ายขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่ชอบหรือพึงพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย

ในทางกลับกันเมื่อระดับ Serotonin ต่ำกว่าปกติอาจส่งผลให้อารมณ์ขุ่นมัว อ่อนไหว เศร้าง่าย รู้สึกกังวล โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ ส่งผลให้การตัดสินใจและการจดจำแย่ลง ถ้าหากระดับ Serotonin อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาด้านอารมณ์และความรู้สึก อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคสมาธิสั้น โรค PTSD และโรคกลัว (Phobias)

ไม่เพียงแต่ผลกระทบทางอารมณ์ ภาวะไม่สมดุลของเซโรโทนินอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมได้ เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งบอกว่า กลุ่มคนที่มีระดับ Serotonin ต่ำอาจมีแนวโน้มของปัญหาด้านบุคลิกภาพและพฤติกรรมร่วมกับความผิดปกติทางจิตและทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใจร้อน หุนหันพลันแล่น โรคพฤติกรรมก้าวร้าว โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และอาจรวมถึงแนวโน้มการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยปกติอารมณ์ ความต้องการ และสมรรถภาพทางเพศทั้งในผู้หญิงและผู้ชายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เซโรโทนินก็เป็นหนึ่งในนั้น หากระดับ Serotonin ลดต่ำลงอาจส่งผลให้อารมณ์ ความต้องการ และสมรรถภาพทางเพศสูงขึ้น แต่หากระดับ Serotonin ที่สูงกว่าปกติอาจให้ผลตรงกันข้าม

Serotonin สามารถเปลี่ยนไปเป็นเมลาโทนิน (Melatonin) หรือสารเคมีที่ควบคุมวงจรในการนอนและตื่นได้ ดังนั้น หากระดับเซโรโทนินในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปก็อาจส่งผลต่อคุณภาพของการนอนหลับ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้เซโรโทนินจึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาความผิดปกติทางจิต ทางอารมณ์ ทางพฤติกรรม และการนอนหลับ หากจิตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีปัญหาสุขภาพเหล่านี้ จิตแพทย์ก็อาจสั่งยาที่มีเซโรโทนินเป็นส่วนประกอบเพื่อปรับระดับเซโรโทนินให้สมดุล ซึ่งช่วยบรรเทาและควบคุมอาการได้

Serotonin กับบทบาทต่อสุขภาพด้านอื่น

นอกจากระบบประสาทและสมองแล้ว เซโรโทนินยังมีหน้าที่ในระบบการทำงานส่วนอื่นของร่างกาย เช่น

1. การขับถ่าย
Serotonin ไม่ได้พบมากแค่ไหนสมองเท่านั้น แต่ยังพบได้ในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายด้วย โดย Serotonin จะช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ ซึ่งอาจลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลวได้

2. การแข็งตัวของเลือด

เมื่อร่างกายเราเกิดบาดแผลและมีเลือดออก เกล็ดเลือดจะค่อย ๆ รวมตัวกันจนทำให้เลือดแข็งตัว ซึ่งช่วยลดภาวะเลือดออกและป้องกันการเสียเลือดมาก Serotonin เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยให้เส้นเลือดแดงฝอยตีบลง ทำให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันได้ไวทำให้เลือดหยุดไหลได้เร็วขึ้น จึงจะช่วยย่นระยะเวลาการสมานแผลให้สั้นลง

3. สุขภาพกระดูก

Serotonin มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์ออสติโอคลาสต์ (Osteoclast) หรือเซลล์สลายกระดูก และเซลล์ออสติโอบลาสต์ (Osteoblast) หรือเซลล์สร้างกระดูก เซลล์ทั้งสองชนิดนี้จะสลายและดึงแร่ธาตุเข้าสู่กระดูกเพื่อให้กระดูกแข็งแรง แต่เมื่อระดับ Serotonin สูงเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) อย่างไรก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัดของผลกระทบนี้

4. กลไกป้องกันร่างกาย

ร่างกายคนเรามีกลไกป้องกันสารพิษหรือสิ่งที่เป็นอันตรายตามธรรมชาติ อาการคลื่นไส้ที่ทำให้อาเจียนก็เป็นหนึ่งในกลไกนั้น เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารที่เป็นอันตราย อย่างอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สารพิษ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสารซึ่งร่างกายไม่คุ้นชิน ร่างกายจะหลั่งเซโรโทนินออกมากระตุ้นให้รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียน เพื่อเอาสารที่อาจเป็นอันตรายนั้นออกมา

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับ Serotonin ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหารการกิน การใช้ชีวิต โรคประจำตัว ไปจนถึงพันธุกรรมของร่างกาย

Serotonin Syndrome คืออะไร?

Serotonin Syndrome หรือกลุ่มอาการเซโรโทนิน คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระดับ Serotonin สูงกว่าปกติ พบได้น้อยในคนทั่วไป แต่พบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ที่ใช้ยาที่มี Serotonin เป็นส่วนประกอบพร้อมกัน เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressant) และยารักษาไมเกรน ในบางกรณีก็อาจเกิดจากการใช้ยาชนิดเดียวได้เช่นกัน

กลุ่มอาการเซโรโทนินอาจทำให้เกิดอาการอยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย สับสน หัวใจเต้นรัว รูม่านตาขยาย เหงื่อออกมาก ท้องเสีย หนาวสั่น ขนลุก เสียการทรงตัว กล้ามเนื้อกระตุก หดเกร็ง อ่อนแรง และขยับไม่ได้ตามปกติ หากอาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นหรือผู้ป่วยเกิดอาการชัก เป็นไข้สูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

วิธีรักษา Serotonin ให้สมดุล

Serotonin จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างสูงสุดก็ต่อเมื่ออยู่ในระดับที่สมดุลเท่านั้น หากไม่ได้มีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการได้รับเซโรโทนินเกิน ควรเพิ่มระดับ Serotonin ในร่างกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะไข่ เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง เต้าหู้ สับปะรด ปลาแซลมอน ชีส อัลมอนด์ วอลนัท แมคคาเดเมีย หรือถั่วเปลือกแข็งอื่น ๆ เพราะอาหารเหล่านี้มีกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophen) เป็นส่วนประกอบ โดยเมื่อทริปโตเฟนเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทนิน จึงทำให้รักษาสมดุลของสารชนิดนี้ได้ นอกจากนี้การออกกำลังกาย การทำสมาธิ หรือการได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสมก็ช่วยกระตุ้นการสร้าง Serotonin ได้ด้วย

 

ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่อาจพบผลข้างเคียงจากยาสูงกว่าช่วงวัยอื่น สุดท้ายนี้หากพบผลข้างเคียง อย่างเกิดความรู้สึกสับสน เห็นภาพหลอน อารมณ์ไม่คงที่ เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง ควรไปพบแพทย์ทันที