แม้หลายคนมักไปช้อปปิ้งบ่อยครั้งเพื่อเลือกซื้อสิ่งที่ตนต้องการ แต่เหล่า Shopaholic จะมีพฤติกรรมการจับจ่ายที่มากเกินไปจนถึงขั้นเสพติด และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งปัญหาทางการเงิน ทางจิตใจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันด้วย
Shopaholic คือ อะไร ?
Shopaholic เป็นโรคทางจิตหรือคำเรียกบุคคลที่มีอาการเสพติดการซื้อโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตนเอง มีความอยากไปช้อปปิ้งตลอดเวลา รู้สึกดีที่ได้เดินดูของและใช้เงินจับจ่าย แต่หลังจากนั้นอาจรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตนทำลงไป เพราะอาจช้อปปิ้งเกินความจำเป็นหรือซื้อมาซ้ำกับสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว จนทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น มีหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว มีพฤติกรรมหลบ ๆ ซ่อน ๆ โกหกเกี่ยวกับราคาสินค้าที่ซื้อมา หรือหลอกว่าไม่ได้ซื้อ เป็นต้น ซึ่งผู้หญิงมักเสี่ยงต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่า แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ Shopaholic อาจมีสาเหตุมาจากตัวบุคคล เพราะอาจเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวล สมาธิสั้น ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ควบคุมตนเองไม่ได้ หรืออาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างสื่อโฆษณา การได้เห็นสินค้าที่สนใจบ่อยครั้ง รวมถึงความสะดวกสบายในการซื้อของอย่างการช้อปปิ้งออนไลน์ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเสพติดการซื้อได้
วิธีสังเกตพฤติกรรมของเหล่า Shopaholic
หากดูจากภายนอก เหล่า Shopaholic จะเหมือนเป็นคนที่มีกำลังซื้อมาก บางคนชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูเป็นคนที่มีฐานะดีและประสบความสำเร็จ ในขณะที่ชีวิตจริงนั้นกลับมีหนี้สินมากมาย หากไม่ใช่คนใกล้ชิดก็อาจไม่มีใครทราบถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะพวกเขามักปกปิดพฤติกรรมและปัญหาการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม อาจสังเกตอาการของ Shopaholic ได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- เสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก โดยต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
- ไปช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด
- ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
- ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ช้อปปิ้ง
- ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
- โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ
- รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ช้อปปิ้ง แต่ก็ยังจะทำต่อไป
- ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเองหรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้
- ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้
Shopaholic รักษาอย่างไร ?
การรักษาภาวะนี้จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของแต่ละคน บางรายอาจต้องจำกัดการใช้เงิน จำกัดวงเงินบัตรเครดิต หรือให้ผู้อื่นบริหารการเงินให้ แต่ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว หรือรักษาที่ต้นเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกังวลต่อการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น หรือบางรายก็อาจเกิดจากปัญหาทางจิตอื่น ๆ ซึ่งการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการ Shopaholic จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ปรับเปลี่ยนแนวความคิดและความรู้สึก รวมทั้งยุติพฤติกรรม Shopaholic ซึ่งจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาเอาชนะปัญหาและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
Shopaholic กับผลกระทบที่เกิดขึ้น
เมื่อบุคคลมีพฤติกรรม Shopaholic แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีหนี้สินมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทำให้สูญเสียความเชื่อใจจากเพื่อนและคนในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และล้มละลายหากไม่สามารถจัดการกับหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้ เมื่อถึงจุดวิกฤต บางรายอาจถึงขั้นขโมยของเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น Shopaholic ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป