Sociopath คืออะไร รู้จักลักษณะอาการและแนวทางการรักษา

Sociopath หรือ โซซิโอพาธ ใช้เรียกคนที่มีอาการทางจิตในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งผู้ป่วยจะมีลักษณะนิสัยก้าวร้าว โกหกหลอกลวง ไม่ทำตามกฎระเบียบของสังคม มีนิสัยเจ้าเล่ห์หลอกลวง และไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น

โดยทั่วไป จิตแพทย์มักไม่ได้วินิจฉัยให้ผู้ป่วยเป็นโรค Sociopathy แต่จะใช้เกณฑ์ของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ การรักษาผู้ที่เป็นโรคนี้ทำได้ยากเนื่องจากยังไม่มียารักษาโดยตรง หากสงสัยว่า Sociopath มีอาการอย่างไร และใช้วิธีรักษาอย่างไรได้บ้าง บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้แล้ว

Sociopath คืออะไร รู้จักลักษณะอาการและแนวทางการรักษา

อาการของ Sociopath

Sociopath แต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะภายนอกของ Sociopath อาจดูมีสเน่ห์น่าดึงดูด แต่ความจริงแล้วมักเป็นคนที่ไม่ค่อยนึกถึงความรู้สึกของคนอื่น และมีลักษณะนิสัยของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ดังนี้

  • ไม่สนใจกฎระเบียบของโรงเรียนและที่ทำงาน รวมถึงข้อปฏิบัติในสังคม ทำให้มีพฤติกรรมผิด ๆ เช่น  ลักขโมย คุกคามคนอื่น และทำลายทรัพย์สินของสาธารณะ 
  • หยิ่ง เย็นชา ไม่เคารพความรู้สึกคนอื่น 
  • มีนิสัยเจ้าเล่ห์ ชอบโกหกหลอกลวง โดยอาจใช้ตัวตนปลอมหรือแอบอ้างเป็นคนอื่น
  • ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา หุนหันพลันแล่น และชอบเสี่ยงอันตราย โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเกิดอันตรายหรือไม่
  • ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานได้
  • ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หรืออาจรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้องและรู้สึกผิดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่หยุดการกระทำนั้น
  • ละเมิดสิทธิผู้อื่น

Sociopath ส่วนมากไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เนื่องจากมีนิสัยชอบบังคับควบคุมและบ้าบิ่น จึงมักจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่นึกถึงผู้อื่น และไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง

Sociopath และ Psychopath ต่างกันอย่างไร

หลายคนอาจสับสนระหว่าง Sociopath และ Psychopath เนื่องจากมีอาการคล้ายกัน โดยในทางการแพทย์ไม่ได้จำแนกความแตกต่างของ 2 ภาวะนี้ไว้อย่างชัดเจน และไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชโดยตรง การตรวจ Sociopath และ Psychopath จะใช้เกณฑ์ของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมและทำการรักษาต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองภาวะนี้มีข้อแตกต่างกัน คือ

  • คนทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มกระทำความผิดได้เหมือนกัน แต่ Sociopathy อาจมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นอยู่บ้าง รู้จักผิดถูกและตระหนักถึงการกระทำของตัวเองมากกว่าเล็กน้อย ส่วน Psychopath มักจะไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีและไม่มีความรู้สึกเห็นใจคนอื่นเลย
  • Sociopathy มักจะมีท่าทีหุนหันพลันแล่นและเอาแน่เอานอนไม่ได้มากกว่า ในขณะที่ Psychopath ซึ่งไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดอาจมีท่าทีนิ่งเฉยและดูเหมือนจะใช้ชีวิตปกติคล้ายคนทั่วไปมากกว่า
  • แม้ Psychopath และ Sociopath จะมีอาการคล้ายโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม แต่ Sociopath บางคนเท่านั้นที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ขณะที่ผู้ป่วย Psychopath ส่วนใหญ่มักมีอาการเข้าข่ายโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม

Sociopath เกิดจากอะไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้คนคนหนึ่งมีอาการเข้าข่าย Sociopath ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิด การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสารเคมีในสมอง แต่บางส่วนเชื่อว่าปัจจัยภายนอก เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว การคบเพื่อน และสังคมแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีส่วนสำคัญที่เป็นสาเหตุของ Sociopath มากกว่าปัจจัยด้านพันธุกรรม

เด็กที่เติบโตในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนที่ใช้ความรุนแรง บีบบังคับ ถูกทารุณกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโตมามีปัญหาด้านสภาพจิตใจและกลายเป็น Sociopath รวมทั้งคนที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณสมองส่วนหน้าจากอุบัติเหตุ และโรคทางสมอง เช่น สมองเสื่อม ซึ่งทำให้สมองได้รับความเสียหาย อาจทำให้มีอาการต่อต้านสังคม ซึ่งเป็นอาการที่อาจพบได้ใน Sociopath เช่นกัน

แนวทางการตรวจและรักษา Sociopath

คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM-5) ไม่ได้แบ่งประเภทย่อยของโรคในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม และไม่ได้จำแนกความแตกต่างของ Sociopath และ Psychopath ไว้ จิตแพทย์จึงใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมเพื่อประเมินอาการของ Sociopath ดังนี้

  • จิตแพทย์จะเริ่มวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้เมื่อผู้ป่วยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป 
  • มีพฤติกรรมผิดปกติที่แสดงถึงความรุนแรงและเพิกเฉยต่อสิทธิของคนอื่นอย่างน้อย 3 ข้อจากเกณฑ์ที่ DSM-5 ระบุไว้ตั้งแต่อายุ 15 ปี เช่น โกหกหลอกลวง ไม่ปฏิบัติตามกฎของสังคม ใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น และไม่รู้สึกผิดในการกระทำของตัวเอง
  • ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder) ก่อนอายุ 15 ปี
  • มีอาการต่อต้านสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชที่เป็นอยู่ เช่น โรคไบโพลาร์ และโรคจิตเภท (Schizophrenia)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักไม่ได้รับการรักษา เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีอาการผิดปกติ จนกว่าคนใกล้ชิดจะสังเกตเห็นอาการผิดปกติ หรือเมื่อผู้ป่วยกระทำผิดและถูกจับกุมให้เข้ารับการรักษา 

ทั้งนี้ การรักษาโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมและ Sociopath อาจทำได้ยาก เพราะไม่มียาและวิธีการรักษาโดยตรง เป้าหมายในการรักษาทำเพื่อลดความก้าวร้าวรุนแรง และรักษาอาการอื่นที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า และภาวะติดสุรา ซึ่งวิธีการรักษาที่แพทย์อาจนำมาใช้มีดังนี้

จิตบำบัด
การรักษาด้วยจิตบำบัดเป็นการพูดคุยกับนักจิตบำบัดเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และรับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การปรับอารมณ์โมโหร้าย และป้องกันการใช้สารเสพติด เช่น การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) สติบำบัด (Mentalization-Based Therapy) และชุมชนบำบัด (Democratic Therapeutic Communities)

การใช้ยา
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษา Sociopath โดยตรง ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามักเป็นยาที่ช่วยปรับสภาวะอารมณ์ เช่น ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) ยาต้านเศร้า SSRI และยาปรับสภาพอารมณ์ (Mood Stabilizers) ที่ใช้รักษาอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง และยากันชักที่ใช้รักษาอาการหุนหันพลันแล่น เป็นต้น

หากสังเกตว่าคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนหรือคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่าย  Sociopath ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ และหากเป็นไปได้ควรแนะนำให้ผู้ที่มีอาการไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม การไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดีขึ้น