หลายคนอาจรู้จักหรือได้ยินเกี่ยวกับ Swab Test (สวอปเทสต์) ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) แต่รู้หรือไม่ว่า Swab Test ไม่ได้ใช้ตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ตรวจหาเชื้อและโรคอื่น ๆ อีกด้วย
Swab Test เป็นการเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อและมูก (Mucus) ภายในร่างกายเพื่อส่งตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มักมีร่องรอยของเชื้อโรคอยู่ Swab Test จึงบอกถึงการติดเชื้อภายในร่างกายได้ การตรวจนี้ ไม่เพียงใช้เก็บตัวอย่างในโพรงจมูกเท่านั้น และอาจใช้เก็บตัวอย่างภายในลำคอ หู และช่องคลอดด้วย
ทำไมแพทย์ใช้ Swab Test ตรวจหาเชื้อโรค?
ร่างกายของมนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือสารเคมี เมื่อเราได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ระบบภูมิคุ้มกันก็จะตอบสนองและกำจัดเชื้อเหล่านี้ด้วยกลไกบางอย่าง ซึ่งกลไกนี้ทำให้เรามีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ ปวดตัว หนาวสั่น มีเสมหะ น้ำมูก และตกขาวที่ผิดปกติ
เสมหะ น้ำมูก และตกขาวที่ผิดปกติจัดเป็นมูก หรือของเหลวใสที่มีลักษณะข้นหนืด เมื่อร่างกายติดเชื้อมูกเหล่านี้จะมีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น ผลิตออกมามากขึ้น เหนียวข้นขึ้น มีสีหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค และในมูกที่มีลักษณะเปลี่ยนไปมักมีร่องรอยของการติดเชื้อ เช่น แอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิคุ้มกันที่หลั่งออกมามากขึ้นเมื่อร่างกายติดเชื้อ เชื้อโรค และซากของเชื้อโรค
แพทย์จะใช้ Swab Test ในการเก็บตัวอย่างมูกเหล่านี้เพื่อนำมาเพาะเชื้อภายในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ ทำให้ทราบว่าร่างกายติดเชื้อจริงหรือไม่และทราบถึงชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดอาการ อีกทั้ง Swab Test เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก และความเสี่ยงของผลข้างเคียงต่ำ และยังมีผลการศึกษาชี้ว่า การตรวจหาเชื้อโรคด้วย Swab Test นั้นให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำ แพทย์จึงใช้การตรวจนี้เพื่อหาการติดเชื้อ
ขั้นตอนการทำ Swab Test
โดยปกติ การตรวจหาการติดเชื้อ แพทย์มักสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน และหากข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย แพทย์อาจตรวจด้วย Swab Test เพิ่มเติม โดยช่องทางที่แพทย์อาจใช้ Swab Test ในการตรวจ ได้แก่
- โพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab Test)
การเก็บตัวอย่างมูกในโพรงจมูกมักใช้ตรวจโรคติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคโควิด-19 ด้วย ซึ่งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุอาจพบได้ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยไอหรือกระแอมเพื่อกระตุ้นการสร้างเสมหะ จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยเงยหน้าในมุมที่เหมาะสม และสอดไม้พันสำลีขนาดเล็กเข้าไปในโพรงจมูก จากนั้นกวาดหรือหมุนเบา ๆ เพื่อเก็บตัวอย่างมูกที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูก โดยแพทย์อาจเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งขั้นตอนนี้อาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือระคายเคืองภายในโพรงจมูกเล็กน้อย
- ลำคอ (Throat Swab Test)
การเก็บตัวอย่างมูกในลำคอมักใช้เพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เพราะโดยส่วนใหญ่อาการเจ็บคอมักมาจากการติดเชื้อไวรัสและมักหายได้เอง แต่หากมาจากแบคทีเรียหรือเชื้อโรคชนิดอื่นอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ตรงตามชนิดของเชื้อ อย่างคออักเสบ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) ไข้รูมาติก โรคเชื้อราในช่องปาก โรคหนองในแท้ โรคคอตีบ และโรคไอกรน (Pertussis)
การทำ Swab Test ในลำคอค่อนข้างง่ายและรวดเร็วกว่าช่องทางอื่น ๆ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยอ้าปากค้างไว้ และใช้ไม้พันสำลีเก็บมูกหรือเสมหะในลำคอด้านหลัง บริเวณต่อมทอนซิล (Tonsil Gland) และตำแน่งที่มีแผลหรือพบความผิดปกติ บางครั้งแพทย์อาจใช้ไม้กดลิ้น (Tongue Depressor) ร่วมด้วยเพื่อตรวจและเก็บตัวอย่างภายในลำคอได้ง่ายขึ้น
- หู (Ear Swab Test)
การทำ Swab Test ภายในหู แพทย์อาจเก็บตัวอย่างของเหลว มูก ขี้หู หนอง และเลือดขึ้นอยู่กับความผิดปกติและอาการ โดยส่วนใหญ่การบาดเจ็บและการติดเชื้อบริเวณหูชั้นนอก อย่างการติดเชื้อและเยื่อแก้วหูฉีกขาดอาจทำให้เกิดมูกและของเหลวออกมา วิธีการเก็บตัวอย่างก็คล้ายกับ Swab Test แบบอื่น ๆ ซึ่งก็คือการใช้ไม้พันสำลี สอดเข้าไปในหูและกวาดหรือหมุนเพื่อเก็บตัวอย่าง
- ช่องคลอด (Vagina Swab Test)
แพทย์อาจใช้ Swab Test เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเมือกภายในช่องคลอดร่วมกับการตรวจภายใน และใช้เพื่อตรวจหาการติดเชื้อและโรคทางเพศสัมพันธ์ที่มักทำให้ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) เช่น ภาวะพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) ภาวะติดเชื้อราแคนดิดา (Candida infection) ภาวะติดเชื้อราคลาไมเดีย (Chlamydia) ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) ภาวะช่องคลอดติดเชื้อไวรัส และภาวะช่องคลอดฝ่อลีบ (Atrophic Vaginitis)
ก่อนการตรวจ แพทย์หรือพยาบาลอาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดก่อนตรวจ 1 วัน ในขั้นตอนการตรวจ แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสำหรับตรวจ และนอนลงบนเตียงที่มีที่วางเท้า หรือที่เรียกกันว่า การขึ้นขาหยั่ง จากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์สำหรับถ่างช่องคลอด (Speculum) หรือที่รู้จักกันในชื่อคีมปากเป็ด และแพทย์จะใช้ไม้พันสำลีเพื่อเก็บตัวอย่างมูกและของเหลวภายในช่องคลอด วิธีการนี้อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองช่องคลอดเล็กน้อย
หลังจากขั้นตอนเก็บตัวอย่างแล้ว แพทย์จะนำมูกหรือตัวอย่างที่ได้ใส่ในภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ปิดฝา และส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเชื้อ โดยอาจใช้เวลาราว 2-5 วันเพื่อตรวจสอบชนิดของเชื้อ
ผลการตรวจ Swab Test
ผลการตรวจหาการติดเชื้อมีการแสดงผล 2 แบบ ได้แก่
- ผลบวก หรือโพซิทีฟ (Positive) ที่แสดงถึงการติดเชื้อ
- ผลลบ หรือเนกาทีฟ (Negative) ที่หมายถึงไม่มีการติดเชื้อชนิดนั้น ๆ
โดยส่วนใหญ่ ผลการตรวจด้วย Swab Test ค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน ทั้งผลบวกและผลลบ หากผลตรวจที่แสดงว่าติดเชื้อ แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยไม่ติดเชื้อจะเรียกว่า ผลบวกลวง (False Positives) และผลตรวจที่แสดงว่าไม่ติดเชื้อ แต่ความจริงผู้ป่วยมีสถานะติดเชื้อจะเรียกว่า ผลลบลวง (False Negatives) ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจซ้ำ
ผลข้างเคียงจาก Swab Test
โดยปกติ การตรวจ Swab Test มักไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ แต่อาจรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือระคายเคืองเล็กน้อย หากมีอาการเจ็บหรือปวด ควรแจ้งแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการอักเสบและการติดเชื้อ ในบางครั้ง หลังจากการตรวจด้วยวิธีนี้ อาจพบอาการเลือดออกเล็กน้อยในบริเวณที่ตรวจ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไปและมักไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าพบว่าเลือดออกมาก รู้สึกเจ็บติดต่อกันหลายวัน เป็นไข้ และมีของเหลวหรือมูกไหลออกมามากกว่าปกติหรือมีสีเปลี่ยนไป ควรไปพบแพทย์ทันที
นอกจาก Swab Test แล้ว แพทย์เลือกใช้วิธีตรวจอื่นเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความแม่นยำเป็นหลัก