Thanatophobia หรือการกลัวความตาย คืออาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก และวิตกกังวลรุนแรงเมื่อนึกถึงหรือเจอเหตุการณ์เกี่ยวกับความตาย คนที่มีอาการกลัวความตายจะความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องสุขภาพ และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งอาการมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
Thanatophobia ไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชโดยตรงตามคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ฉบับที่ 5 ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการโดยใช้เกณฑ์ของโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobia) หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมก็มีโอกาสที่จะหายดีได้
อาการของ Thanatophobia
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะกังวลเกี่ยวกับสุขภาพหรือความตายเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง เช่น กลัวว่าความตายทำให้เจ็บปวดทรมาน กลัวการพรากจากคนที่รัก แต่อาการของ Thanatophobia นั้นรุนแรงกว่าความกังวลทั่วไป และมีอาการคล้ายคนที่มีโรคกลัว (Phobia) ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง โดยอาการที่พบได้ มีดังนี้
- กลัวและกังวลเกี่ยวกับความตายอย่างรุนแรง โดยอาจเกิดอาการทันทีโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อเจอเหตุการณ์เกี่ยวกับความตาย เช่น ขณะอยู่ที่โรงพยาบาล อ่านหนังสือ ชมละคร หรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย และได้ยินเรื่องเกี่ยวกับความตาย
- พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความตาย เช่น ไม่ไปร่วมงานศพ
- คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับสุขภาพ คอยเช็กอาการผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยอยู่เสมอ
- ตัวสั่น เหงื่อออกมาก ปากแห้ง
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และหน้ามืด
- ปวดท้อง คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจหอบถี่ แน่นหน้าอก
- ตัวชา หรือรู้สึกเจ็บเหมือนเข็มทิ่ม
- ได้ยินเสียงในหู สับสน
- รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำกะทันหัน
- ในเด็กจะร้องไห้งอแง ไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้ปกครองหรือคุณครู
หากอาการรุนแรงขึ้น อาจรู้สึกผิด เศร้า โกรธ กระสับกระส่าย วิตกกังวลต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว เพื่อน และคนอื่น ๆ เป็นเวลานาน ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ผู้ป่วยนึกถึง พูดถึง หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความตาย เช่น ไปร่วมงานศพ หากเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุอาจเป็นอาการของโรคทางจิตอื่น เช่น ภาวะวิตกกังวลทั่วไป
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิด Thanatophobia
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Thanatopobia แต่แพทย์สันนิษฐานว่าอาการกลัวความตายอาจเกิดในผู้ที่มีประสบการณ์ฝังใจที่ตัวเองหรือคนใกล้ชิดเกิดอันตรายหรือเสียชีวิต เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทารุณกรรม การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต และการสูญเสียคนที่รัก นอกจากนี้ อาการกลัวความตายอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น
- ทำอาชีพที่ต้องเห็นการเสียชีวิตบ่อย ๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์
- อายุ คนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปีจนถึงวัยกลางคนอาจเกิดความกังวลเกี่ยวกับความตายของตัวเอง และคนที่รัก เช่น คนในครอบครัวและเพื่อน
- สภาพจิตใจหดหู่ ไม่มีความสุขในชีวิต มองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem)
- คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น มะเร็ง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ระยะรุนแรงที่มีแนวโน้มรักษาไม่หาย และโรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคกลัว และโรคซึมเศร้า
- ความเชื่อทางศาสนา เช่น ไม่มีศาสนาที่นับถือ ทำให้ขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ หรือนับถือศาสนาที่สอนให้เชื่อเรื่องโลกหลังความตาย และความตายคือการทรมานเพื่อชดใช้กรรม ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวความตาย
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของผู้ปกครอง เช่น เลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป ไม่ยอมลูกให้ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะเป็นอันตราย หรือเลี้ยงดูด้วยความวิตกกังวลมากเกินกว่าเหตุ เพราะกลัวว่าลูกจะเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย
- เห็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เช่น การก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุทางรถยนต์ ภัยพิบัติ
แนวทางการรักษา Thanatophobia
เนื่องจาก Thanatophobia ไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชตาม DSM-5 จึงไม่มีวิธีวินิจฉัยและรักษาโดยตรง แพทย์จะประเมินอาการและวิธีรักษาโดยใช้เกณฑ์ของโรคกลัวแบบจำเพาะ หากมีอาการกลัวความตายนานกว่า 6 เดือน เกิดความกลัวรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย แพทย์อาจวินิจฉัยว่ามีโรคกลัวแบบจำเพาะ และอาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
1. จิตบำบัด
จิตบำบัดเป็นการพูดคุยหรือปรึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและหาแนวทางรักษา เช่น
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)
การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีที่นิยมใช้รักษาโรคกลัว โดยการพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อช่วยปรับความคิดให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะแนะนำแนวทางการรับมือเมื่อเกิดความกลัวอย่างเหมาะสม เช่น การฝึกหายใจ เพื่อช่วยลดความกลัวและวิตกกังวล
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า (Exposure Therapy)
การบำบัดวิธีนี้จะให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว เช่น ให้เขียนเกี่ยวกับความตายของตัวเองหรือคนที่รัก ชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความตาย และพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควบคู่กับการใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด (Relaxation Technique) และการพูดคุยกับตัวเองในเชิงบวก ทำให้ผู้มีอาการ Thanatophobia รู้สึกกลัวน้อยลงและไม่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอีก
2. การใช้ยา
แพทย์อาจให้ผู้ป่วย Thanatophobia รับประทานยาลดความวิตกกังวลและแพนิค เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI และ SNRI เช่น ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ยาเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) และยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) รวมทั้งยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) และลอราซีแพม (Lorazepam)
นอกจากวิธีรักษาข้างต้น ผู้มีอาการ Thanatophobia ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ และฝึกหายใจ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด หากมีอาการกลัวความตายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการแพนิค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา