Veneer (วีเนียร์) หรือการเคลือบฟันเทียม เป็นหนึ่งในทางเลือกของการมีรอยยิ้มที่สวยงามและมั่นใจ เพราะช่วยปรับเปลี่ยนรูปร่าง สี และการเรียงตัวของฟันให้ดูดีขึ้น แต่ควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย และขั้นตอนการทำ Venee เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
Veneer คืออะไร ?
Veneer คือการเคลือบฟันเทียมด้วยแผ่นวัสดุบาง ๆ ที่มีขนาดพอดีกับฟันของผู้เข้ารับการรักษา โดยวัสดุที่ใช้ทำแผ่นเคลือบฟันนั้นมักผลิตจากเซรามิกหรือพลาสติกชนิดเรซิน ซึ่งหากเทียบกันแล้ว แผ่นเคลือบฟันเทียมทำจากเซรามิกมีความคงทน ช่วยป้องกันการเกิดคราบ และสะท้อนแสงแล้วดูเป็นธรรมชาติมากกว่าแผ่นเคลือบฟันเทียมจากเรซิน ในขณะเดียวกันก็มีราคาแพงกว่า
วัตถุประสงค์ของการทำ Veneer
การทำ Veneer มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยแก้ไขรูปร่างและสีของฟัน ทำให้ฟันเป็นระเบียบสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ เสริมความมั่นใจให้แก่ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าว แพทย์อาจแนะนำให้ทำ Veneer ในกรณีต่อไปนี้
- ฟันเปลี่ยนสี อาจเกิดจากการรักษาคลองรากฟัน คราบที่ตกค้างจากการใช้ยาเตตราไซคลินหรือยาชนิดอื่น ๆ การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินไป หรือการอุดฟันด้วยเรซินที่มีสีต่างจากฟันอย่างชัดเจน
- ฟันสึกกร่อนหรือชำรุด เช่น ฟันบิ่น ฟันหัก เป็นต้น
- ฟันมีรูปร่างผิดปกติ เช่น ฟันไม่สม่ำเสมอกัน มีลักษณะเป็นแอ่ง หรือยื่นออกมาไม่เป็นระเบียบ
- ฟันมีระยะห่างมากกว่าปกติ
ข้อดีของการทำ Veneer
Veneer เป็นวิธีทางทันตกรรมที่มีข้อดีในด้านความสวยงามและด้านอื่น ๆ ดังนี้
- สูญเสียเนื้อฟันน้อยกว่าการครอบฟัน การครอบฟันทั่วไปต้องกรอเนื้อฟันออกไปมากเพื่อให้ใส่วัสดุครอบฟันได้พอดี แตกต่างจากการทำ Veneer ที่จะกรอฟันออกเพียงบริเวณด้านหน้าให้พอดีกับแผ่นเคลือบฟัน
- ช่วยให้ฟันดูเป็นธรรมชาติ เนื่องจากวัสดุที่ใช้มีสีและการสะท้อนแสงที่คล้ายฟันจริงมากกว่า
- ส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณโดยรอบน้อยกว่า แผ่นเคลือบฟันที่ทำจากเซรามิกจะส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบ ๆ น้อยกว่าการครอบฟันหรือเคลือบฟันด้วยวิธีอื่น ๆ
- ช่วยให้ฟันดูขาวขึ้น นอกจากจะช่วยแก้ไขรูปร่างของฟันแล้ว แผ่นเคลือบฟันชนิดนี้ยังช่วยให้สีของฟันโดยรวมดูขาวขึ้นได้อีกด้วย
- วัสดุมีความคงทน แข็งแรง และใช้ได้นาน
ข้อเสียของการทำ Veneer
การทำ Veneer อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป เพราะในบางกรณีอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมด้วยวิธีนี้ได้ เช่น
- แก้ไขไม่ได้ เพราะจะต้องมีการกรอเนื้อฟันบางส่วนออกก่อนติดแผ่นเคลือบฟัน
- เกิดอาการเสียวฟันได้ง่าย เนื่องจากชั้นเคลือบฟันถูกกรอออก ทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลงและส่งผลให้เกิดการเสียวฟันได้ง่าย
- มีค่าใช้จ่ายสูง การทำ Veneer มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการตกแต่งฟันด้วยวิธีอื่น ๆ
- ซ่อมแซมไม่ได้ หากแผ่นเคลือบฟันเกิดการแตกหักหรือบิ่นจะไม่สามารถนำออกมาซ่อมแซมได้ เนื่องจากมีการผนึกเข้ากับฟันอย่างแน่นหนาแล้ว
- สีของแผ่นเคลือบฟันอาจไม่เหมือนกับสีฟันจริงเสียทีเดียว ทำให้อาจสังเกตเห็นความแตกต่างได้ และจะไม่สามารถเปลี่ยนสีเมื่อติดเคลือบฟันแล้ว ดังนั้น ควรฟอกสีฟันก่อนทำ Veneer เพื่อให้สีฟันใกล้เคียงกันมากที่สุด
- ไม่ได้ช่วยป้องกันฟันผุ เนื่องจาก Veneer เป็นการเคลือบฟันเพียงด้านหน้าด้านเดียว ฟันด้านอื่น ๆ จึงยังเกิดการผุได้ แตกต่างจากการครอบฟันที่ช่วยปกป้องจากการผุได้รอบด้าน
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น มีฟันผุ เป็นโรคเหงือก หรือมีพื้นที่ของเคลือบฟันด้านหน้าไม่เพียงพอต่อการติดแผ่นเคลือบฟันเทียม
- ไม่เหมาะกับผู้ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน ชอบกัดเล็บ หรือเคี้ยวของแข็ง เช่น ดินสอ น้ำแข็ง หรืออาหารแข็ง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดแรงกดที่ฟันจนแผ่นเคลือบฟันเสียหายได้
ขั้นตอนในการทำ Veneer
การทำ Veneer แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การวางแผนการรักษา การเตรียมฟัน การใส่เคลือบฟันเทียมชั่วคราว และการใส่เคลือบฟันเทียมถาวร แต่ละขั้นตอนมีวิธีการดังต่อไปนี้
วางแผนการรักษา ขั้นตอนการทำ Veneer เป็นไปตามหลักทันตกรรมขั้นพื้นฐาน คือเริ่มต้นจากการวางแผนการรักษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟันของคนไข้ให้เรียบร้อย ได้แก่ โรคปริทันต์ที่อยู่ในระยะแสดงอาการ ปัญหาการสบฟันและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อการทำ Veneer
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วการทำ Veneer เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการรักษาปัญหาเกี่ยวกับฟัน ยังมีวิธีอื่น ๆ ให้เลือกใช้ได้เช่นเดียวกัน ก่อนตัดสินใจใช้วิธีนี้ ทันตแพทย์จะสอบถามถึงความคาดหวังจากการรักษาของคนไข้โดยละเอียด และอธิบายถึงข้อจำกัดและความเสี่ยง เช่น คนไข้อาจต้องจัดฟัน ขัดสีฟัน หรือเคลือบฟันก่อนทำ Veneer ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน หรือจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกันกับการทำ Veneer เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
การเตรียมฟัน หลังจากขั้นตอนการแจ้งข้อมูลและวางแผนการรักษา ทันตแพทย์จะเริ่มเตรียมฟันของคนไข้ให้เหมาะสมกับการใส่อุปกรณ์เคลือบฟันเทียม โดยทั่วไปแล้ว อาจต้องมีการกรอฟันออกอย่างน้อย 1-2 มิลลิเมตร และอาจปรับแต่งรูปฟันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ปรับแต่งความหนาให้เหมาะต่อการใส่วัสดุ หรือปรับแต่งให้ฟันมีลักษณะใกล้เคียงกับฟันซี่ตรงข้าม ปรับสัณฐาน กึ่งกลาง และความล้านเอียงของฟัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาฟันผุ
การใส่เคลือบฟันเทียมชั่วคราว เมื่อทำการเตรียมฟันสำหรับการใส่วัสดุเรียบร้อยดีแล้ว ทันตแพทย์จะให้คนไข้ใส่วัสดุเทียมชั่วคราวเพื่อช่วยให้เห็นภาพลักษณะของฟันหลังการทำ Veneer โดยคร่าวว่าเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ ทั้งยังช่วยให้คนไข้เกิดความคุ้นเคยกับการใส่วัสดุดังกล่าว โดยเคลือบฟันเทียมชั่วคราวจะผลิตจากแม่พิมพ์เดียวกันกับเคลือบฟันเทียมชุดจริง และนำมาติดกับตัวฟันด้วยวัสดุทางทันตกรรม แพทย์มักให้ใส่เคลือบฟันนี้จนกว่าจะเห็นว่าเข้ากันได้ดีกับช่องปากและตัวคนไข้เองรู้สึกว่าเคลือบฟันมีความพอดีกับปากแล้ว
การใส่เคลือบฟันเทียมจริง ทันตแพทย์จะนำเคลือบฟันเทียมชุดจริงมาใส่ให้กับคนไข้หลังจากนำเคลือบฟันชั่วคราวออก โดยมีการกรอฟันเพื่อทำความสะอาดเนื้อฟันและกำจัดเศษวัสดุที่ใช้ประสานเคลือบฟันชุดเก่าออก จากนั้นจึงใช้วัสดุติดผสานเนื้อฟันและเคลือบฟันชุดจริงเข้าด้วยกัน แล้วฉายแสงเพื่อให้เนื้อฟันและแผ่นเคลือบฟันติดกันสนิท
ข้อควรระวังหลังการทำ Veneer
- คนไข้อาจต้องใช้เวลา 2-3 วันจึงจะคุ้นเคยกับวัสดุเคลือบฟัน และควรตรวจดูให้แน่ใจว่าการทำ Veneer ไม่ส่งผลต่อการกัดหรือเคี้ยวก่อนออกจากสถานทันตกรรม เพื่อให้แพทย์ช่วยแก้ไขความผิดปกติได้ทันท่วงที
- แผ่นเคลือบฟันเทียมอาจบิ่นหรือหักได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ดินสอ เล็บ เป็นต้น
- แปรงฟันและเหงือกให้สะอาด และหมั่นใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุบริเวณรอบ ๆ วัสดุเคลือบฟัน
Veneer มีอายุการใช้งานเท่าไร ?
โดยทั่วไปแล้ว วัสดุที่ใช้เคลือบฟันจะมีอายุการใช้งานประมาณ 7-15 ปี แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้มาเปลี่ยนวัสดุเมื่อครบกำหนด หากในช่วงที่ยังไม่ครบกำหนดเกิดอุบัติเหตุจนทำให้วัสดุเคลือบฟันเกิดความเสียหาย คนไข้ก็ควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ผลข้างเคียงจากการทำ Veneer มีอะไรบ้าง ?
การทำ Veneer มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ
- วัสดุที่เชื่อมระหว่างเนื้อฟันและแผ่นเคลือบฟันเทียมหลุดออก ทำให้เคลือบฟันเคลื่่อนที่ได้
- แผ่นเคลือบฟันเทียมแตกหรือหัก เนื่องจากการนอนกัดฟัน การกัดและเคี้ยวของแข็ง หรืออุบัติเหตุ
- สีบริเวณขอบเคลือบฟันเทียมเปลี่ยนไป
- เกิดฟันผุบริเวณรอบ ๆ แผ่นเคลือบฟัน
- มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร เนื่องจากแผ่นเคลือบฟันไม่พอดีกับฟัน