White Lung Syndrome หรือ White Lung Pneumonia คืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้ทำให้พบว่าปอดมีลักษณะเป็นฝ้าขาวเมื่อทำการตรวจทางรังสี เช่น การตรวจเอกซเรย์ (X-Ray) หรือซีทีสแกน (CT Scan) ทางการแพทย์คาดว่า White Lung Syndrome อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด แต่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน
White Lung Syndrome เป็นภาวะที่อาจติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย และอาจทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างตามมาได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ White Lung Syndrome จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้คุณสามารถรับมือกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของ White Lung Syndrome
ผู้ป่วย White Lung Syndrome อาจมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน โดยมักปรากฎอาการดังนี้
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- มีอาการเจ็บคอ
- มีอาการไอ โดยอาการไออาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- หายใจลำบาก หายใจถี่ หรือหายใจแล้วรู้สึกเหนื่อย
นอกจากนี้ ในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีอาจแสดงอาการต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่ คืออาจมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจมีเสียงหวีด ตาแฉะ น้ำตาไหลบ่อย คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิด White Lung Syndrome
White Lung Syndrome อาจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
1. การติดเชื้อแบคทีเรีย
การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดการติดเชื้อภายในปอดร่วมด้วย โดยเมื่อปอดมีการติดเชื้อ ถุงลมภายในปอดจะมีของเหลวหรือหนองสะสมอยู่ และอาจนำไปสู่การเกิด White Lung Syndrome ได้ โดยเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้คือเชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา (Mycoplasma) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบในเด็กนั่นเอง
2. การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ
การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้อย่างรุนแรง จนทำให้ปอดติดเชื้อและเกิดความเสียหายตามมา โดยเชื้อไวรัสที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้เกิด White Lung Syndrome มีหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัส RSV (RSV Virus) รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด (COVID-19) ด้วยเช่นกัน
3. ผลข้างเคียงจากโรคโควิด
ผู้ป่วยโรคโควิดบางรายเมื่อทำการตรวจเอกซเรย์หรือซีทีสแกนบริเวณปอดในช่วงที่หายจากโรคใหม่ ๆ อาจพบว่าปอดที่มีลักษณะคล้ายฝ้าขาวเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อภายในปอด โดยมักพบร่วมกับอาการไอเรื้อรังและเหนื่อยหอบง่าย ผู้ป่วยหลายคนต้องใช้เวลาสักพักกว่าอาการจะหายไป และในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรงก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดปลูกถ่ายปอดด้วย
นอกจากนี้ White Lung Syndrome อาจเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพราะมาตรการป้องกันตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดของโรค เช่น การกักตัว การหลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะหรือบริเวณที่มีคนจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้เด็กเล็ก ๆ ได้ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง และมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ลดลงตามไปด้วย
4. การสูดดมฝุ่นหิน
ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง อาจมีความเสี่ยงในการสูดดมฝุ่นหินเข้าสู่ร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งฝุ่นหินจะสะสมในปอดและทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคซิลิโคสิส (Silicosis) ส่งผลให้เกิดอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ และหายใจลำบากตามมา ซึ่งหากสะสมเป็นเวลานานในปริมาณมาก ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด White Lung Syndrome ได้
เคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลตัวเองให้ห่างไกล White Lung Syndrome
วิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะ White Lung Syndrome จะคล้ายคลึงกับวิธีการดูแลตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิดหรือโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ จึงสามารถใช้มาตรฐานป้องกันตัวเองแบบเดียวกันได้ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือหากไม่มีสบู่สามารถใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์มากกว่า 70% ทดแทนได้ชั่วคราว
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือรถโดยสารสาธารณะ และป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอและล้างมือบ่อย ๆ หากจำเป็นต้องไปในสถานที่เหล่านี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน 5 หมู่ในปริมาณที่ร่างกายต้องการอย่างเหมาะสม
- พักผ่อนอย่างเพียงพอและออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสต่าง ๆ
แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับ White Lung Syndrome จะยังมีน้อยและทางการแพทย์อาจยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ลักษณะอาการของภาวะนี้มีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ทราบวิธีการรับมือกับการระบาดในเบื้องต้นได้