Zinc (ซิงค์) หรือสังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทต่อการทำงานของร่างกายหลายส่วน ทั้งการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน และผิวหนัง ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความสวยงามจึงมักมี Zinc เป็นส่วนประกอบ
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ว่าซิงค์อาจช่วยเร่งการสมานแผล รักษาสิว และเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แต่การได้รับมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน บทความนี้จึงได้นำประโยชน์ของซิงค์และวิธีรับประทานที่ถูกต้องและปลอดภัยมาฝากกัน
Zinc กับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
การได้รับ Zinc ในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยเสริมสุขภาพในด้านต่อไปนี้
1. เสริมสร้างการเจริญเติบโตและฟื้นฟูบาดแผล
Zinc เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง เพราะร่างกายเราใช้แร่ธาตุชนิดนี้ในการสังเคราะห์สารต่างๆ ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นดีเอ็นเอ (DNA) อาร์เอ็นเอ (RNA) หรือโปรตีน ซึ่งสารโปรตีนเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ การได้รับ Zinc อย่างเพียงพอจึงอาจช่วยให้ทารกในครรภ์และเด็กสามารถเติบโตตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม
Zinc และแร่ธาตุชนิดอื่นยังจำเป็นการสังเคราะห์คอลลาเจนที่เป็นโปรตีนรูปแบบหนึ่ง เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการได้รับ Zinc อย่างเพียงพอจึงช่วยเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและโปรตีนชนิดอื่นที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูบาดแผล ทำให้แผลสมานได้เร็วขึ้น
ผลการศึกษาหลายชิ้นได้ทดลองใช้ Zinc ในการรักษาแผลเบาหวานในผู้ป่วย 60 คนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาจริง และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก พบว่าแผลเบาหวานของกลุ่มที่รับประทาน Zinc มีขนาดที่เล็กลงเมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม ผู้วิจัยจึงคาดว่า Zinc อาจช่วยเร่งการสมานแผลได้
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยืนยันว่า Zinc มีสรรพคุณช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูแผล แต่ปริมาณและรูปแบบในการใช้ Zinc เพื่อรักษาแผลอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาดแผล จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงปริมาณและรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพในการสมานแผลและความปลอดภัยในการใช้
2. ต้านการอักเสบ
การอักเสบมักเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพ การอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ ภาวะขาดสมดุลระหว่างสารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ภายในร่างกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อสารอนุมูลอิสระมากเกินไป ภาวะนี้อาจถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุมากขึ้น ความเครียด มลภาวะ สุรา บุหรี่ และการติดเชื้อ เป็นต้น
เมื่อเซลล์อักเสบเรื้อรังก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคสมองเสื่อม โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคมะเร็งได้ ซิงค์จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย ซิงค์จึงช่วยลดการอักเสบของเซลล์ที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระได้ ด้วยเหตุนี้การรับประทานอาหารที่มีซิงค์เป็นประจำอาจช่วยลดการอักเสบเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของโรคบางชนิด
3. รักษาการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ และสารพิษ ซึ่งการเสริมสร้างและรักษาการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ได้
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่าการได้รับ Zinc ในรูปแบบอาหารเสริมติดต่อกันอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ซึ่งงานวิจัยอีกงานหนึ่งชี้ว่า Zinc อาจช่วยลดความรุนแรงและลดระยะเวลาการป่วยจากไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคหวัด และต้านการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกที่เกิดจากไวรัสจึงทำให้อาการของโรคหวัดทุเลาลง
4. ดีต่อคนที่เป็นสิว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิวเป็นอาการทางผิวหนังที่ส่งผลต่อรูปลักษณ์และความมั่นใจ ทั้งยังทำให้เกิดความเครียด สิวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผิวมัน เชื้อสิวหรือ P. Acnes และพันธุกรรม การเพิ่มซิงค์ในมื้ออาหารอาจเป็นประโยชน์ต่อคนเป็นสิวไม่มากก็น้อย
เพราะคุณสมบัติต้านการอักเสบของซิงค์ที่ช่วยลดการอักเสบของสิวและผิวหนัง จึงอาจช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบวมแดงที่เกิดจากสิวได้ ซิงค์ยังมีส่วนช่วยลดการผลิตน้ำมันบนผิวหนังจึงอาจช่วยให้หน้ามันน้อยลง นอกจากนี้ซิงค์ยังมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียในตัวเองจึงอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสิวได้
อย่างไรก็ตามการศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงผลจากการศึกษาส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันสรรพคุณที่แน่ชัดของซิงค์ ด้วยเหตุนี้จึงควรรอผลการศึกษาในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคและผลกระทบต่อสุขภาพ
การได้รับซิงค์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ (Toxicity) ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย และปวดศีรษะ ภาวะเป็นพิษจากซิงค์มักพบจากการใช้ซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริมเป็นส่วนใหญ่
เมื่อร่างกายขาด Zinc จะเป็นอย่างไร?
ซิงค์เป็นแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ซิงค์ขึ้นเองได้ ดังนั้นคนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะขาดซิงค์ (Zinc Deficiency) ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น เป็นผื่น ท้องเสียเรื้อรัง แผลหายช้า ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย ป่วยบ่อย ต่อมรับรสทำงานผิดปกติ ปัญหาสุขภาพทางเพศในผู้ชาย ทางร่างกายและสติปัญญาไม่สมบูรณ์ และโตช้า
โรคบางอย่างอาจเพิ่มเสี่ยงของภาวะนี้ เช่น กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) ภาวะทุพโภชนาทั้งจากการอดอาหารและสภาพความเป็นอยู่ และโรคไตเรื้อรัง ไลฟ์สไตล์บางอย่างก็อาจทำให้ร่างกายขาดซิงค์ได้เช่นกัน อย่างการรับประทานอาหารเจ มังสวิรัติ และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ นอกจากนี้คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องหรือกำลังให้นมบุตร และเด็กทารกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ก็อาจมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
Zinc หาได้จากไหน?
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ Zinc ขึ้นเองได้ เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารชนิดนี้ โดย Zinc สามารถพบได้ในอาหารดังต่อไปนี้
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น นม โยเกิร์ต ชีส เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ปู กุ้ง ปลาลิ้นหมา ปลาแซลมอน หอยนางรม และหอยอื่น ๆ
- กลุ่มพืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เห็ด ผักเคล หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ควินัว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ เมล็ดฟักทองและเมล็ดพืชชนิดอื่น ๆ เม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ
การได้รับ Zinc จากการบริโภคอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่หากแพ้อาหารชนิดไหน ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น หากต้องการรับประทานอาหารเสริม Zinc ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายต้องการ Zinc ต่อวันในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำปริมาณ Zinc ต่อวันโดยแบ่งตามช่วงอายุไว้ดังนี้
เด็กทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึงเด็กอายุ 8 ปี ควรได้รับ Zinc ต่อวันในปริมาณ (มิลลิกรัม: มก.) ดังนี้
- อายุ 6–11 เดือน 2.7 มก./วัน
- อายุ 1–3 ปี 4.4 มก./วัน
- อายุ 4–5 ปี 5.3 มก./วัน
- อายุ 6–8 ปี 6.3 มก./วัน
ปริมาณ Zinc ที่ควรได้รับต่อวันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้น สามารถแบ่งตามเพศหญิงและเพศชาย ดังนี้
- 9–12 ปี หญิง 9.0 มก./วัน ชาย 9.5 มก./วัน
- 13–15 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ชาย 12.5 มก./วัน
- 16–18 ปี หญิง 9.8 มก./วัน ชาย 12.9 มก./วัน
- 19–30 ปี หญิง 9.7 มก./วัน ชาย 11.6 มก./วัน
- 37–60 ปี หญิง 9.2 มก./วัน ชาย 10.9 มก./วัน
- 61–70 ปี หญิง 8.6 มก./วัน ชาย 10.9 มก./วัน
- 71 ปีขึ้นไป หญิง 8.6 มก./วัน ชาย 10.3 มก./วัน
ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรได้รับปริมาณ Zinc เพิ่มจากปริมาณปกติราว 1.6 มิลลิกรัมต่อวัน หากอยู่ระหว่างให้นมบุตร ควรได้รับ Zinc เพิ่ม 2.9 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมทุกชนิด
การรับประทานอาหารให้หลากหลายเป็นประจำอาจช่วยเพิ่ม Zinc ให้กับร่างกายอย่างเพียงพอ แต่การได้รับ Zinc เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงโดยร่วมได้ ดังนั้นนอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ควรออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
สุดท้ายนี้ แม้ว่า Zinc จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรซื้อมาใช้เพื่อหวังผลในการรักษาหรือป้องกันโรค เมื่อเจ็บป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ Zinc แพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายและแนะนำวิธีอย่างปลอดภัยให้กับผู้ป่วย