Zolpidem (โซลพิเดม)
Zolpidem (โซลพิเดม) คือยากล่อมประสาทที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดจากการมีสารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน ยาชนิดนี้จะช่วยลดการตื่นตัวของสมอง โดยไปขัดขวางการทำงานของกระแสประสาท ทำให้รู้สึกง่วงนอนในที่สุด
เกี่ยวกับยา Zolpidem
กลุ่มยา | ยากล่อมประสาท |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการนอนไม่หลับ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด |
คำเตือนของการใช้ยา Zolpidem
- ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับการทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องอาศัยการรับรู้และการตื่นตัว เช่น การขับรถ การรับประทานอาหาร หรือการเดิน หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาโซลพิเดมหรือมีภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมและย่อยสลายยาได้
- ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หรือโรคเกี่ยวกับปอด เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- ผู้ที่มีประวัติอาการป่วยทางจิต ภาวะซึมเศร้า เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย รวมทั้งผู้ที่มีประวัติติดสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
- หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ เพราะตัวยาอาจเจือปนในน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารก
- ยาโซลพิเดมอาจออกฤทธิ์กับผู้ป่วยสูงอายุมากกว่าผู้ป่วยวัยอื่น และอาจทำให้มีอาการง่วงซึมได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Zolpidem
ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับในระยะสั้น
- ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 5-10 มิลลิกรัม ก่อนนอน และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 10 มิลลิกรัม หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นานต่อเนื่อง รับประทานวันละ 6.25-12.5 มิลลิกรัม ก่อนนอน ไม่ควรเกิน 12.5 มิลลิกรัมต่อวัน โดยระยะเวลาในการใช้ยารวมกับช่วงปรับปริมาณยา ไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 4 สัปดาห์
- ผู้สูงอายุ รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม ก่อนนอน หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นานต่อเนื่อง รับประทานวันละ 6.25 มิลลิกรัม ก่อนนอน โดยระยะเวลาในการใช้ยารวมกับช่วงปรับปริมาณยา ไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 4 สัปดาห์
การใช้ยา Zolpidem
- ยาโซลพิเดมต้องใช้ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น และควรปฎิบัติตามฉลากแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือใช้ยาเกินระยะเวลาที่กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
- ควรศึกษาเอกสารประกอบการใช้ยาอย่างละเอียดก่อนเริ่มใช้ หากมีข้อสงสัยใด ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามใช้ยาโซลพิเดมร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากปริมาณการใช้ยาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเพศชายและหญิงนั้นต่างกัน
- ผู้ที่มีประวัติติดสารเสพติด ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ป่วยเด็ก ไม่ควรใช้ยานี้เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
- โซลพิเดมเป็นยาใช้ในระยะสั้นเท่านั้น หากใช้ยาติดต่อนานเกิน 7-10 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาใหม่
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานกว่า 4-5 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาในระยะยาว
- หลังใช้ยาจนครบตามกำหนดแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับมานอนไม่หลับซ้ำหรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม หากอาการนอนไม่หลับรุนแรงขึ้นหลังเลิกใช้ยา ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
- ห้ามหยุดยาเองโดยทันที ควรปรึกษาแพทย์ในการปรับลดปริมาณยาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการถอนยาที่อาจเกิดขึ้นได้
- การใช้ยาโซลพิเดมอาจทำให้ความสามารถในการคิดและการตอบสนองลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์นานต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยเพศหญิงที่อาจมีอาการง่วงซึมในตอนเช้าหลังจากใช้ยา ผู้ป่วยอาจต้องรอให้หายง่วงซึมและตื่นตัวอย่างเต็มที่ ก่อนจะขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างวันหรือก่อนนอน
- เก็บรักษายาให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และห้ามแช่เย็น เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Zolpidem
ยาโซลพิเดมจะส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง การใช้ยาจึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้ยาโซลพิเดม หากมีอาการต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
- ลมพิษ เช่น มีผื่นนูนแดง หรือมีอาการคันตามร่างกายหลังรับประทานยา
- หายใจลำบาก
- ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
นอกจากนี้ ยาโซลพิเดมมีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ ดังนี้
- ง่วงซึมระหว่างวัน วิงเวียนศีรษะ มึนงง
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- มีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานของร่างกาย เช่น การทำงานที่มีขั้นตอนซับซ้อน การเดิน เป็นต้น
- คัดจมูก ปากแห้ง มีอาการระคายเคืองที่จมูกหรือลำคอ
- คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย
- ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ หากอาการแย่ลงหรือมีอาการใด ๆ นอกเหนือจากข้างต้นควรแจ้งแพทย์ทันที เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล พฤติกรรมก้าวร้าว สับสน มีอาการหลอน มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ มีบุคลิกเปลี่ยนไป มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง และควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการกลืน
- รู้สึกเหมือนจะหมดสติ