กระวาน สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่อาจมีดีมากกว่าเครื่องเทศปรุงอาหาร เพราะตามตำรับยาโบราณกล่าวว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหลายชนิด ทั้งปัญหาการย่อยอาหาร เช่น ท้องผูก จุกเสียด แสบร้อนกลางทรวงอก ลำไส้อักเสบ และใช้แก้หวัด แก้ไอ แก้เจ็บคอ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบขับปัสสาวะ
เมล็ดกระวานเป็นส่วนที่ผู้คนนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและยารักษาโรค อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับคุณประโยชน์ทางยาของกระวานหลายข้อก็สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น มีดังนี้
ลดความดัน หลายคนเชื่อว่ากระวานมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ด้านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เองก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีระดับความดันลดลงหลังรับประทานผงกระวานบดวันละ 3 กรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 12 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับผลข้างเคียงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กระวานได้ชื่อว่ามีสรรพคุณเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แบ่งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ออกเป็น 4 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มดื่มชาดำผสมสมุนไพรต่างชนิดกัน ได้แก่ อบเชย กระวาน หญ้าฝรั่นและขิง หรือยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วเข้ารับการตรวจความดันโลหิต ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ดื่มชาดำผสมพืชสมุนไพรทุกกลุ่มมีระดับความดันโลหิตลดลงและมีการทำงานของหลอดเลือดดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลลัพธ์ชี้ว่าผู้ป่วยที่ดื่มชาดำผสมสมุนไพรแต่ละกลุ่มไม่ได้มีระดับความดันโลหิตและการทำงานของหลอดเลือดแตกต่างกันแต่อย่างใด กระวานจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกในการช่วยลดความดันโลหิตและเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและได้ผล ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ต้องเข้ารับการรักษาและรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ และหากต้องการใช้กระวานเป็นยาช่วยลดความดันควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
แก้คลื่นไส้ นอกจากการรับประทานเป็นยาลดความดันโลหิต หลายคนนิยมใช้กระวานแก้อาการคลื่นไส้ งานวิจัยหนึ่งจึงพิสูจน์สรรพคุณด้านนี้โดยให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสุ่มดมไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นขิง หรือน้ำมันหอมระเหยที่ผสมกระวาน ขิง สะระแหน่ และสเปียร์มินต์ เพื่อแก้อาการคลื่นเหียนที่เป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาชาและการผ่าตัด ผลปรากฏว่าผู้ป่วยที่ดมน้ำมันหอมระเหยผสมสมุนไพรต่าง ๆ รู้สึกดีขึ้นและมีอาการคลื่นไส้น้อยลง
แม้ผลการศึกษาดังกล่าวจะชี้ให้เห็นว่าการดมน้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนผสมของกระวานมีสรรพคุณแก้คลื่นไส้ แต่ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อสรุปได้ว่ากระวานมีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ใช้น้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ประเด็นนี้จึงต้องมีการศึกษาโดยใช้กระวานอย่างเดียวเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำมาใช้แก้คลื่นไส้ ต่อไป
ต้านมะเร็ง อีกหนึ่งสรรพคุณทางยาของกระวานที่มีการศึกษาคือการต้านมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองนำสารสกัดพริกไทยดำและกระวานใส่ลงไปในเซลล์ม้ามซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าสารสกัดพริกไทยดำและกระวานช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งและต้านอาการอักเสบได้ เนื่องจากสารสกัดทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติทำลายเซลล์แปลกปลอม
นอกจากนี้ กระวานอาจมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้หนูที่มีเชื้ออันก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหารกินกระวาน ผลลัพธ์พบว่าหนูเหล่านั้นมีเนื้องอกลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กิน คิดเป็นร้อยละ 41.67 ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก็เผยให้เห็นว่าหนูที่มีเชื้อที่เป็นสาเหตุให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองในลักษณะคล้ายกับโรคมะเร็งผิวหนังในคนนั้น มีอาการป่วยดีขึ้นหลังจากกินกระวานเข้าไป
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่มียังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าทางการแพทย์จะนำกระวานมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้จริง เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้ศึกษากับสัตว์ ยังขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำมาใช้กับคน ประเด็นนี้จึงต้องมีการศึกษาในระยะยาวกับผู้ป่วยจริงต่อไป ที่สำคัญ การใช้กระวานเป็นยาอาจส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพบางประการได้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
บำรุงสุขภาพหัวใจ เชื่อกันว่ากระวานมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ประเด็นนี้มีการศึกษากับหนูทดลองโดยให้หนูส่วนหนึ่งกินน้ำเกลือ และอีกส่วนหนึ่งกินสารสกัดกระวานติดต่อกัน 30 วัน หลังจากนั้นฉีดสารที่มีฤทธิ์ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติเข้าไปในตัวหนูทั้ง 2 กลุ่ม ผลปรากฏว่าหนูที่กินสารสกัดกระวานเกิดอาการหัวใจทำงานผิดปกติน้อยกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่ากระวานมีคุณสมบัติบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจและป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจได้
นอกจากนี้ กระวานอาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในห้องทดลองโดยนำตัวอย่างเกล็ดเลือดของผู้ที่มีสุขภาพดีมาใส่สารที่ทำให้เลือดแข็งตัว ก่อนจะเติมสารสกัดกระวานลงไป ผลปรากฏว่ากระวานช่วยลดการแข็งตัวของเลือดได้
แม้งานวิจัยบางชิ้นจะชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระวานในการบำรุงสุขภาพหัวใจ แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าพืชชนิดนี้มีสรรพคุณดังกล่าวและใช้ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากงานวิจัยเหล่านั้นไม่ได้ศึกษากับคนโดยตรง และจากที่มีการทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในระยะยาวเพิ่มเติมกับคนจำนวนมากต่อไป
ใช้กระวานอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์
ปริมาณการใช้กระวานเพื่อสรรพคุณทางยาที่ปลอดภัยสำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะสุขภาพ อายุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีข้อมูลแนะนำปริมาณการใช้กระวานสำหรับรักษาโรคอย่างชัดเจน ผู้ที่ต้องการใช้สมุนไพรชนิดนี้จึงควรระมัดระวัง ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานกระวานหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกระวานเพื่อการรักษาปัญหาสุขภาพ
- สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงการรับประทานกระวานเป็นยา เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะระบุปริมาณและความปลอดภัยในการนำกระวานมาใช้เป็นยาสำหรับสตรีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคกระวานในปริมาณมากกว่าที่ใช้ประกอบอาหารทั่วไป เนื่องจากเมล็ดกระวานอาจทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เกิดอาการปวดเสียดท้องได้