กระเพาะทะลุ หรือกระเพาะอาหารทะลุ (Gastrointestinal Perforation) เป็นภาวะที่อวัยวะบริเวณทางเดินอาหาร ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ หรือถุงน้ำดี เกิดรูแผล โดยภาวะนี้ถือเป็นภาวะอันตรายที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายที่มีความรุนแรง เช่น การติดเชื้อ การเสียเลือด จนผู้ที่ป่วยบางคนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ในส่วนของอาการแสดง อาการเด่น ๆ ของผู้ที่มีภาวะกระเพาะทะลุมักจะประกอบไปด้วย อาการปวดท้องรุนแรง ท้องบวม มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือในบางกรณี ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ร่วมด้วย
กระเพาะทะลุ เกิดจากอะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า การรับประทานอาหารรสเผ็ดมาก ๆ หรือการดื่มน้ำอัดลมจะส่งผลให้เกิดกระเพาะทะลุได้ แต่จริง ๆ แล้ว แม้ในบางครั้งจะอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบ้าง แต่พฤติกรรมในข้างต้นไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะกระเพาะทะลุโดยตรง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของกระเพาะทะลุ
โดยตัวอย่างสาเหตุของภาวะกระเพาะทะลุที่อาจพบได้ เช่น
- เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) โดยสาเหตุนี้จะยิ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ
- โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) โดยภาวะนี้มักพบได้ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) หรือภาวะที่สารบางชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน เกิดการตกตะกอนและจับตัวกันเป็นก้อนในถุงน้ำดี
- ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Bowel Impaction) หรือภาวะที่อุจจาระตกค้างอยู่ในบริเวณลำไส้หรือช่องทวารหนัก
- โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของลำไส้และทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) และโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)
- โรคมะเร็งที่ทางเดินอาหาร
- ผลข้างเคียงจากวิธีการรักษา วิธีการตรวจ หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น การผ่าตัด การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์ และการใช้ยากลุ่มเอ็นเสด
- การกลืนของมีคม วัตถุต่าง ๆ หรือสารบางชนิด
- เกิดอุบัติเหตุบริเวณช่วงท้อง
- การอาเจียนอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระเพาะทะลุได้อีกเช่นกัน
กระเพาะทะลุ ป้องกันได้หรือไม่
เนื่องจากภาวะกระเพาะทะลุสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้น อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการทำตามวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีใยอาหาร เนื่องจากที่มีใยอาหารเป็นกลุ่มอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้เป็นปกติ รวมถึงอาจมีส่วนช่วยในการป้องการอาการท้องผูก
- ผู้ที่ต้องรับประทานยาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะยาแอสไพริน ในกลุ่มเอ็นเสด หรือยาสเตียรอยด์ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ภาวะกระเพาะทะลุเป็นภาวะรุนแรงที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ที่พบอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะกระเพาะทะลุ โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่กล่าวไปในข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์และหลีกเลี่ยงการใช้ยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนเป็นกรณีไป ซึ่งส่วนมากมักใช้วิธีการผ่าตัดและยาปฏิชีวนะ